ความเป็นมา

บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน อเวนเจอร์ แพลนเนอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจ ให้บริการวางแผนการเงินแบบองค์รวม กับลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป โดยได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ตามใบอนุญาตเลขที่ ด06-0148-37 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

จุดเริ่มต้นของบริษัท เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2559 จากการรวมตัวกันของทีมผู้ก่อตั้ง 3 ท่าน ซึ่งได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ของวิชาชีพนักวางแผนการเงินในประเทศไทย ณ ขณะนั้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่า วิชาชีพนี้อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่เรื่องของการเติบโตเพราะ ณ ขณะนั้น มีผู้สนใจเข้ามาประกอบวิชาชีพนี้จำนวนมาก ทั้งจากคนรุ่นใหม่และจากผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอยู่ก่อนหน้า อาทิ ตัวแทนประกันชีวิต ผู้แนะนำการลงทุน ฯลฯ สิ่งที่น่าห่วงที่แท้จริงคือคุณภาพของบริการ

ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ลูกค้าจะสามารถประเมินได้ว่านักวางแผนการเงินของตนนั้น มีคุณภาพในการให้บริการเป็นอย่างไร ให้คำแนะนำอย่างมีเหตุผล เป็นอิสระ และดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของลูกค้าจริง หรือเป็นเพียงการใช้คำว่า “วางแผนการเงิน” มากล่าวอ้าง เพื่อมุ่งเน้นไปที่การขายผลิตภัณฑ์ให้ได้เท่านั้น

ทีมผู้ก่อตั้ง (Founder)

  • คู่สามี - ภรรยา นักวางแผนการเงินอิสระ ผู้มีประสบการณ์ในการวางแผนการเงินแบบองค์รวม ให้กับลูกค้าบุคคลธรรมดา โดยไม่จำกัดฐานะ อาชีพ และมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ มาตั้งแต่ปี 2554
  • มีประสบการณ์วางแผนการเงินให้กับลูกค้าบุคคล มามากกว่า 500 ท่าน โดยเป็นผู้บุกเบิก และสร้างแนวทางการทำงานวางแผนการเงินแบบองค์รวม ให้เหมาะกับบริบทของประเทศ มาตั้งแต่ที่อาชีพนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทย
  • นอกจากนั้นยังเป็นผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นพัฒนาโครงการขนาดเล็ก ที่มุ่งส่งมอบความคุ้มค่าที่ดีเกินราคาให้กับลูกค้า

นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทั้ง 3 ท่านตัดสินใจตรงกันว่า จะต้องทำอะไรสักอย่างที่มากกว่าแค่การวิพากษ์วิจารณ์ จึงได้ตัดสินใจนำทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ของตน มาเป็นทรัพยากรเริ่มต้น ในปฏิบัติการ "สร้างทีมนักวางแผนการเงินในอุดมคติ" ที่จะเป็นผู้ออกไปส่งมอบความรู้และให้บริการวางแผนการเงินกับผู้คนในวงกว้างมากขึ้น โดยมุ่งไปที่ประโยชน์ของลูกค้าก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนผลประโยชน์ของตนเป็นรอง ภายใต้ชื่อ Avenger Planner

โดยได้มีการจัดตั้ง บริษัท อเวนเจอร์ แพลนเนอร์ จำกัด ขึ้นเพื่อรวบรวมนักวางแผนการเงินอิสระที่มีความสามารถและมีอุดมการณ์ตรงกัน และเริ่มออกให้บริการกับลูกค้าโดยไม่จำกัดฐานะ และจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำในการใช้บริการ ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นพันธมิตร ณ ขณะนั้น จนมีลูกค้าสะสมถึงกว่า 3,700 ท่าน และมีมูลค่าเงินลงทุนภายใต้คำแนะนำถึงกว่า 6 พันล้านบาท

ต่อมาจึงได้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (บลป.) และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน อเวนเจอร์ แพลนเนอร์ จำกัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติให้เริ่มประกอบธุรกิจได้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา

คุณค่าและมาตรฐานที่เราตั้งใจส่งมอบ

เรามีความตั้งใจที่จะ สร้างบริการวางแผนการเงินอันเป็นอุดมคติ ให้ปรากฎขึ้นจริง ผ่านการให้บริการของเรา ซึ่งเริ่มต้นจากแนวคิดว่า "ตัวเราเองอยากได้นักวางแผนการเงินแบบไหน เราก็จะเป็นนักวางแผนการเงินแบบนั้น" และนี่คือ "คุณค่าหลัก 4 ประการ" ที่เรายึดถือ และมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดขึ้น

อุ่นใจ

เราให้คำแนะนำเสมือนเป็นเงินของเรา
เลือกใช้เฉพาะวิธีการที่รอบคอบ ระมัดระวัง
และผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายไทยเท่านั้น

โปร่งใส

เราเปิดเผยความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ที่มาของรายได้ เงื่อนไขการบริการต่างๆ
เพื่อให้ท่านได้ข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ

มีความสามารถ

เราคัดเลือกนักวางแผนการเงินอย่างเข้มงวด
ทั้งด้านทักษะความรู้และคุณธรรม
และมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม

ทุกคนเข้าถึงได้

เราให้คำปรึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
โดยจะมีรายได้เมื่อลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์
เพื่อดำเนินการตามแผน

เพื่อให้สามารถส่งมอบคุณค่าหลักทั้ง 4 ประการข้างต้นได้อย่างดีที่สุด
เราจึงได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานด้านต่างๆ สำหรับนักวางแผนการเงิน Avenger Planner ดังต่อไปนี้

แนวทางการคัดเลือกนักวางแผนการเงิน

องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ Avenger Planner คือ “นักวางแผนการเงิน” ซึ่งต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ ต้องมีความสามารถ มีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับบริษัท และ เป็นผู้ไม่มีปัญหาทางการเงิน เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างเป็นอิสระจากแรงกดดันต่างๆ โดยเฉพาะจากการฉวยโอกาสตักตวงผลประโยชน์ระยะสั้นจากความไม่รู้ของลูกค้า ด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม เพียงเพื่อจะสร้างรายได้ให้กับตนเองอย่างรวดเร็ว

ในด้านความรู้ความสามารถ

เรามีกระบวนการคัดสรรผู้สมัครเพื่อเป็นนักวางแผนการเงิน อย่างเข้มงวดหลายขั้นตอน เพื่อให้สามารถคัดเลือกผู้สมัครที่มีศักยภาพ ให้เข้ามาฝึกฝนใน หลักสูตรพัฒนานักวางแผนการเงินของบริษัท ที่มีชื่อว่า AVP Academy ซึ่งออกแบบให้สอดคล้องกับปรัชญาความเชื่อของบริษัท และเหมาะกับบริบทของประเทศไทย

อีกทั้งยังมีข้อกำหนดให้นักวางแผนการเงินทุกคน ต้องมีใบอนุญาตผู้วางแผนการลงทุน (IP License) ซึ่งเป็นใบอนุญาตด้านการให้คำแนะนำการลงทุน ซึ่งมีสถิติที่สามารถสอบผ่านได้ยากที่สุดใบอนุญาตหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันด้านความรู้ความสามารถเพิ่มเติม

ในด้านเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับบริษัท และ การเป็นผู้ไม่มีปัญหาทางการเงิน

ฝ่ายบริหารจะพิจารณาจากประวัติการทำงาน จากการสัมภาษณ์ และจากการที่ผู้สมัครเป็นนักวางแผนการเงิน จะต้องใช้เวลาพิสูจน์ตนเองอยู่ในกระบวนการฝึกฝนของบริษัท เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิดจากฝ่ายบริหาร และ ทีมนักวางแผนการเงินที่มีประสบการณ์ ก่อนที่จะสามารถขอสอบวัดผลในขั้นสุดท้ายเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็น Planner ของบริษัทได้

โดยสรุปแล้ว นักวางแผนการเงินของบริษัท จะต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติต่างๆ ตามลำดับ ดังต่อไปนี้

  • เข้าใจแนวทางของบริษัทอย่างถ่องแท้ จากการรับฟังข้อมูลทั้งด้านบวก ด้านลบ ในกิจกรรม Open-house ของทีมซึ่งจัดทุกๆ 1-2 ปี
  • ผ่านการทดสอบความรู้เบื้องต้น ทั้งเรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคลภาคทฤษฎี และการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อประกอบอาชีพนักวางแผนการเงิน
  • ผ่านการสัมภาษณ์โดยทีมผู้ก่อตั้งบริษัททั้ง 3 ท่าน ด้วยมติเอกฉันท์ เพื่อรับเข้าอบรมในหลักสูตร AVP Academy
  • ผ่านการอบรมหลักสูตร AVP Academy  โดยเน้นการฝึกฝนและลงมือปฏิบัติ เป็นเวลาประมาณ 5-6 เดือน
  • ผ่านการสะสมประสบการณ์เป็นผู้ช่วยนักวางแผนการเงิน เพื่อให้บริการกับลูกค้าร่วมกับนักวางแผนการเงินที่มีประสบการณ์ เป็นเวลาประมาณ 6-9 เดือน
  • ผ่านการสอบแผนการเงินเชิงลึก ซึ่งมีกรรมการตัดสินเป็นทีมผู้ก่อตั้งบริษัท และ Planner รุ่นปัจจุบันที่มีประสบการณ์สูง
  • มีใบอนุญาตที่จำเป็นตามกฎหมายครบถ้วน ที่จะสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ใบอนุญาตผู้วางแผนการลงทุน (IP License) เป็นต้น

แนวทางการวางแผนและให้คำแนะนำทางการเงิน

สำหรับคำแนะนำที่เกี่ยวของกับการลงทุนและผลิตภัณฑ์การลงทุน

บริษัทมีแนวทางการให้คำแนะนำ ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (บลป.) ซึ่ง คณะกรรมการลงทุนของบริษัทจะมีการจัดทำคำแนะนำส่วนกลาง เพื่อให้นักวางแผนการเงินของบริษัทนำไปใช้ให้คำแนะนำกับลูกค้า ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และข้อจำกัดของลูกค้าแต่ละท่าน

สำหรับคำแนะนำทางการเงินด้านอื่นๆ ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างขวาง และมิได้อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงาน ก.ล.ต.

บริษัทเชื่อในศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของนักวางแผนการเงิน ซึ่งผ่านกระบวนการฝึกฝนที่เข้มงวดโดยบริษัทจนสิ้นสุดกระบวนการแล้ว จึงมีนโยบายเปิดโอกาสให้นักวางแผนการเงินแต่ละคน สามารถวางแผนและให้คำแนะนำกับลูกค้าได้ตามดุลยพินิจของตน ตราบใดที่มิได้ละเมิดหลักการสำคัญของบริษัท ดังต่อไปนี้

แนะนำเสมือนเป็นเงินของตนเอง

หากแผนหรือผลิตภัณฑ์ใด ที่แม้แต่ตัวเราเอง
ยังไม่กล้าดำเนินการ หรือไม่เลือกซื้อ
เราก็จะไม่แนะนำแผนหรือผลิตภัณฑ์นั้นให้กับลูกค้าของเราเช่นกัน

คำนึงถึงความเสี่ยงก่อนผลตอบแทน

ทุกคำแนะนำของเรา จะอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท
เรามองด้านร้ายและเตรียมวิธีจัดการ ก่อนที่จะหวังถึงด้านดี
แล้วจึงสื่อสารทั้งสองด้านให้ลูกค้ารับทราบเพื่อตัดสินใจ

รอบคอบ พอประมาณ ไม่สุดโต่ง

เราวิเคราะห์ คาดการณ์ ให้คำแนะนำแบบระมัดระวัง
ชวนลูกค้าคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปได้
ไม่ใช่เพียงแค่วาดฝันให้สวยหรู แต่มีความเป็นไปได้ต่ำ

ไม่เน้นคาดการณ์ระยะสั้น มุ่งความสำเร็จระยะยาว

เราให้ความสำคัญกับความเป็นไปได้ในระยะยาว
ซึ่งมีพื้นฐานทางวิชาการและเหตุผลรองรับ
มากกว่าการทำนายเหตุการณ์เฉพาะหน้า

เน้นเสนอทางเลือก ให้ลูกค้าร่วมตัดสินใจ

เราเชื่อว่าแผนการเงินที่ดีนั้น ต้องเป็นแผนที่ลูกค้ามีความเชื่อมั่น
เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยตนเอง
มากกว่าที่จะทำตามสิ่งที่นักวางแผนการเงินเสนอเพียงฝ่ายเดียว

ติดตามทบทวนคำแนะนำอยู่เสมอ

เราเชื่อว่าไม่มีแผนหรือคำแนะนำใดที่จะใช้ได้เสมอไป
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แผนการเงินจะต้องถูกปรับปรุง
ให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ

แนวทางการคัดเลือกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

เพื่อจะบรรลุเป้าหมายทางการเงินนั้น นักวางแผนการเงินมีความจำเป็นต้องแนะนำให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ อาทิ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนรวม กองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี กองทุนส่วนบุคคล และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

โดยเฉพาะสำหรับนักวางแผนการเงิน Avenger Planner นั้น ส่วนแบ่งรายได้หรือคอมมิชชั่นจากการขายผลิตภัณฑ์เป็นเพียงแหล่งรายได้เดียวของเรา จึงมีโอกาสที่นักวางแผนการเงินจะเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม โดยอาศัยความเชื่อใจของลูกค้า เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของลูกค้า

Avenger Planner จึงกำหนดนโยบายขึ้นเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1เสนอขายผลิตภัณฑ์เมื่อจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อบรรลุเป้าหมายเท่านั้น
นักวางแผนการเงิน Avenger Planner จะไม่เสนอขายผลิตภัณฑ์พร่ำเพรื่อ และ จะไม่ตั้งธงไว้ก่อนว่าจะต้องเสนอขายผลิตภัณฑ์ใดกับลูกค้าที่จะเข้าพบ ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่จะเสนอขายนั้น จะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกค้ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์นั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
2คัดเลือกผลิตภัณฑ์จากผู้ให้บริการที่หลากหลาย และเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้กฎหมายไทย
นักวางแผนการเงิน Avenger Planner จะพยายามคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากผู้ให้บริการที่หลากหลาย โดยไม่จำกัดอยู่เพียงผลิตภัณฑ์จากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เว้นแต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้ นักวางแผนการเงินจะแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงข้อจำกัดนั้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้น
3แนะนำผลิตภัณฑ์ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จ่ายคอมมิชชั่นสูง
นักวางแผนการเงิน Avenger Planner จะทำการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดี เหมาะสมกับการนำไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยไม่คำนึงว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะมีคอมมิชชั่นมากกว่าหรือน้อยกว่าอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง (เช่น สำหรับกองทุนรวม คือเป็นกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนย้อนหลังในระยะยาวที่ดี ขณะที่ผลตอบแทนในระยะสั้นก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มกองทุนที่น่าสนใจ โดยมีค่าธรรมเนียมที่อยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป)
4ไม่มีการขอหรือกดดันให้ลูกค้าช่วยซื้อผลิตภัณฑ์
นักวางแผนการเงิน Avenger Planner จะไม่ขอร้อง หรือกดดันด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ให้ท่านช่วยซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ท่านไม่มีความจำเป็นต้องใช้ โดยจะเสนอขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเงินของท่านเท่านั้น

ทั้งนี้ หากลูกค้าท่านใด พบว่านักวางแผนการเงิน Avenger Planner มีการแนะนำหรือเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ขัดกับนโยบายข้างต้น ท่านมีสิทธิ์ที่จะสอบถามถึงเหตุผลกับนักวางแผนการเงินของท่าน และ/หรือ สามารถร้องเรียนกับฝ่ายกำกับดูแลของบริษัท เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป (คลิก เพื่อส่งข้อร้องเรียน)

แนวทางการบริหารความขัดแย้งทางผลประโยชน์

บริการวางแผนการเงินของบริษัทนั้น ดำเนินการเป็นธุรกิจ ย่อมต้องมีการคาดหวังผลตอบแทนทางการเงินเป็นการตอบแทนจากการให้บริการ

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนักวางแผนการเงินมักอยู่ในฐานะที่มีความได้เปรียบทางข้อมูลที่มากกว่า อีกทั้งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า จึงอาจสามารถให้คำแนะนำกับลูกค้าเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยที่ลูกค้าไม่ทราบ หรือกระทั่งสามารถทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าเป็นประโยชน์ของตัวลูกค้าเองได้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ก็ถือเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของบริษัท ที่ไม่สามารถมุ่งเอาประโยชน์ของลูกค้ามาก่อนประโยชน์ส่วนตนได้ตามปณิธานที่ตั้งไว้

ดังนั้น เราจึงมีแนวทางในการบริหารจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ผ่านการเปิดเผยข้อมูลที่มากเพียงพอตั้งแต่ก่อนรับบริการ ร่วมกับการที่ลูกค้าต้องให้ความร่วมมือกับบริษัท ในการรักษาผลประโยชน์ของตัวท่านเอง ด้วยการศึกษาข้อมูลที่บริษัทและนักวางแผนการเงินได้เปิดเผย และตัดสินใจทำตามคำแนะนำ เฉพาะที่ท่านเห็นว่ามิได้ถูกเอารัดเอาเปรียบเท่านั้น

โดย Avenger Planner มีนโนบายในการบริหารความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ด้วยการให้สิทธิ์ต่างๆ กับลูกค้าดังต่อไปนี้

  • ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะสอบถามและได้รับ ประวัติโดยสังเขป ของทั้งทีมผู้บริหาร และนักวางแผนการเงิน
  • ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะสอบถามและได้รับข้อมูล แหล่งที่มาของรายได้ ของบริษัท และนักวางแผนการเงิน
  • ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะสอบถามและได้รับทราบ ผลประโยชน์ ที่บริษัท และนักวางแผนการเงินได้รับจากการให้คำแนะนำต่างๆ
  • ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะสอบถามและได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ เหตุผลและการได้มาซึ่งคำแนะนำต่างๆ ของบริษัท และ ของนักวางแผนการเงิน
  • ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะ ดำเนินการหรือไม่ดำเนินการตามคำแนะนำใดๆ ของนักวางแผนการเงิน
  • ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะ ร้องเรียน หรือแจ้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ของนักวางแผนการเงิน ให้กับบริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบ
  • ลูกค้ามีสิทธ์ที่จะ ให้บริษัทจัดสรรนักวางแผนการเงินท่านใหม่ เพื่อทดแทนนักวางแผนการเงินท่านเดิมที่ลูกค้าไม่ประสงค์จะใช้บริการต่อ
  • ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะ ยกเลิก หรือยุติการรับบริการ ได้ทุกเมื่อ

การควบคุมและพัฒนาคุณภาพบริการ

เราเชื่อมั่นในหลักการที่ว่า ไปคนเดียวไปได้ไว... ไปด้วยกันไปได้ไกล จึงตระหนักดีว่าการจะพัฒนาทีมนักวางแผนการเงินหลายชีวิต ให้มีคุณภาพการบริการในระดับที่ดีใกล้เคียงกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้

เราจึงตั้งใจให้ Avenger Planner เป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Organization) ภายใต้แนวคิด Progressionist คือการเน้นเรียนรู้และพัฒนาจากการลงมือทำ

เพราะการรอจนดีที่สุด พร้อมที่สุด แล้วค่อยลงมือทำนั้น สุดท้ายอาจจะไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย เราจึงเลือกที่จะสร้างบริการวางแผนการเงินในอุดมคติของเราขึ้นทันที และพัฒนาให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน เพราะเชื่อว่าปัญญาที่แท้จริง ย่อมเกิดจากการลงมือทำ

กระบวนการเหล่านี้คือแนวทางที่เราใช้ เพื่อปรับปรุงบริการของเราให้พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน

Continuous Learning

เรามีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
เพราะโลกการเงินนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เราจะไม่ประมาททำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว

Knowledge Sharing

เราตั้งใจจะพัฒนาไปด้วยกันเป็นทีม
กรณีศึกษา ปัญหายากๆ เราร่วมกันแก้
ทักษะความรู้จะถูกแบ่งปันในบริษัทเสมอ

Feedback Seeking

เราแสวงหา Feedback จากลูกค้า
เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการ
สิ่งดีจะถูกชื่นชม สิ่งแย่จะได้รับการปรับปรุง

Internal Rating

เรามีการประเมินผลการปฏิบัติงาน
ของนักวางแผนการเงินเป็นการภายใน
เพื่อพัฒนาเขาได้ตรงจุดและทันท่วงที