ค่าใช้จ่ายพิเศษหลังเกษียณ ที่มักถูกมองข้าม
18/06/2019สถานการณ์การลงทุน และแนวทางการจัดการ ณ 6 ส.ค. 62
06/08/2019เมื่อพูดถึงอาชีพ นักวางแผนการเงิน คำถามเกี่ยวกับอาชีพที่ผมมักจะได้รับอยู่เสมอ ก็เช่น
“อาชีพนี้ ทำแล้วรวยจริงรึเปล่า?”
“มีรายได้จากไหน ถ้าพี่ไม่ซื้ออะไรกับน้องเลย แล้วน้องจะอยู่ได้ยังไง ?”
“มาวางแผนให้คนอื่นแบบนี้ แล้วตัวเองวางแผนให้ตัวเองยังไง เหมือนที่วางให้คนอื่นรึเปล่า ?”
ดังนั้น ในฐานะที่ผมทำอาชีพนี้เป็นงานหลักมานานพอสมควร และปัจจุบัน มีรายได้จากอาชีพที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ เพียงพอต่อการใช้ชีวิต (หรือพูดง่ายๆ ว่า “อยู่รอด” ในอาชีพนี้แล้ว) จึงขอใช้บทความนี้ เล่าวิธีวางแผนการเงินของตัวเอง เพื่อเป็นตัวอย่างให้เข้าใจ ว่านักวางแผนการเงินคนหนึ่ง มีการดำรงชีวิต และวางแผนการเงินด้านต่างๆ ของตัวเองอย่างไร เมื่อต้องทำงานนี้แบบที่ “ไม่เน้นขาย”
เผื่อท่านใดจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการทำงาน หรือการวางแผนการเงินให้กับตนเองได้
รายได้ของนักวางแผนการเงินมาจากไหนได้บ้าง
ก่อนอื่น ผมคงต้องขออธิบายที่มาที่ไป ของการทำงานในแนวทางนี้สักเล็กน้อย เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพและเข้าใจถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการหารายได้ และการวางแผนการเงินของผมเอง
ด้วยความที่คนไทยส่วนใหญ่ ยังไม่คุ้นเคยกับการจ่ายเงินค่าบริการ ให้กับผู้ที่มาให้บริการวางแผนหรือให้คำแนะนำด้านการเงินส่วนตัว เพราะมองว่าเป็น “บริการเสริม” ของการขายผลิตภัณฑ์มากกว่า
รายได้หลักของอาชีพนักวางแผนการเงินในไทยนั้น จึงมาจาก “ค่านายหน้า” หรือ “ค่าคอมมิชชั่น” ที่จะได้จากการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อใช้ดำเนินการตามแผน อาทิ กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ฯลฯ
ซึ่งค่าคอมมิชชั่นในฝั่งประกันนั้น โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 10-40% ของเบี้ยประกันที่ลูกค้าจ่าย (ขึ้นอยู่กับประเภทและแบบประกัน) ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเป็นอัตราที่ได้รับในปีแรกๆ ก่อนที่จะลดลงจนเหลือต่ำมากในปีหลังๆ
ในขณะที่ฝั่งกองทุนรวม จะได้คอมมิชชั่นจาก “ส่วนแบ่ง” ของค่าบริหารจัดการกองทุน ที่กองทุนเรียกเก็บ (Management Fee) และค่าธรรมเนียมเมื่อมีการซื้อขายกองทุน (Front/Back-End Fee) ซึ่งสำหรับพอร์ตที่เน้นถือลงทุนระยะยาวแนวการวางแผนการเงิน (ไม่ได้มีการซื้อๆ ขายๆ บ่อยๆ) ส่วนแบ่งรายได้เมื่อตีออกมาเป็นค่าเฉลี่ย ก็จะอยู่ที่ประมาณ 0.20 – 0.25% ของมูลค่าเงินลงทุนของลูกค้าต่อปี หรือจำง่ายๆ คือ ราวๆ 2,000 – 2,500 บาท/ปี สำหรับยอดเงินลงทุน 1 ล้านบาท
หากเปรียบเทียบกันแล้ว รายได้ของฝั่งกองทุนรวมนั้นจะน้อยกว่าคอมมิชชั่นฝั่งประกันหลายสิบเท่า ดังนั้น หากเอารายได้เป็นตัวตั้ง นักวางแผนการเงินที่อยากมีรายได้เยอะๆ ให้ตนเอง ในเวลาอันสั้น อาจมีแนวโน้มที่จะต้องแนะนำหรือขายประกันให้ได้มากๆ
รายได้ของผมมาจากไหน
เนื่องจากแนวทางของ Avenger Planner ซึ่งเป็นทีมที่ผมสังกัดอยู่นั้น มุ่งเน้นไปที่การวางแผนการเงินแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงความจำเป็นของลูกค้าเป็นหลัก โดยมีแนวทางการแนะนำที่ไม่สุดโต่ง ไม่แนะนำให้ซื้อสินค้าการเงินใดเกินความจำเป็น หรือซื้อจนเสี่ยงที่จะกระทบกับสภาพคล่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
นอกจากนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้ที่มีฐานะทั่วไป ไม่ใช่ลูกค้าที่มีฐานะดีเป็นพิเศษ เราจึงไม่ได้ค่าคอมมิชชั่นจากประกันมากเท่าไร หากได้ก็รายละไม่กี่พันบาท เนื่องจากประกันที่ซื้อตามความจำเป็นของลูกค้ากลุ่มนี้ ก็จะมีเบี้ยประกันโดยเฉลี่ยราว 2 – 3 หมื่นบาทต่อรายเท่านั้น
ในขณะที่ฝั่งกองทุนรวม เราก็มักจะให้ลูกค้าลงทุนแบบเป็นประจำทุกเดือน (Dollar-Cost Averaging : DCA) โดยยอดเงินลงทุนนั้นก็มีตั้งแต่เดือนละไม่กี่พันไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและกำลังของลูกค้า ซึ่งเมื่อคิดเป็นค่าคอมมิชชั่นที่ได้แล้ว ก็จะยิ่งไม่ได้มากมายอะไร
เพียงแต่คอมมิชชั่นในส่วนของกองทุนรวมนั้น จะค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกเดือน จากเงินลงทุนทั้งก้อนเก่าและก้อนใหม่ ที่มาจากลูกค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ ทำให้รายได้ในส่วนนี้แม้ช่วงเริ่มต้นจะน้อย แต่จะเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะยาว ตราบใดที่ลูกค้ายังคงดำรงเงินอยู่ในพอร์ตภายใต้การดูแลของผมอยู่
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผมต้องมีการวางแผนการทำงานอย่างรัดกุม รอบคอบ และอดทน ซึ่งที่ผ่านมาสำหรับรายได้ระยะสั้นที่จำเป็นต้องมีเพื่อเลี้ยงชีพนั้น ผมจะใช้วิธีหารายได้เสริมจากงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ การเป็นวิทยากร ตามองค์กรและสถานศึกษา และยังมีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาด้านประกันให้กับบริษัท Start-up บางแห่ง
โดยเก็บสะสมรายได้เหล่านั้นมาเป็นเงินออม เงินลงทุน ไปพร้อมๆ กับการสั่งสมประสบการณ์และพอร์ตการลงทุนของลูกค้าในอาชีพนักวางแผนการเงิน จนทำให้ในปัจจุบัน รายได้จากค่าคอมมิชชั่นที่ผมได้รับนั้น มากเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน และมีเงินเก็บสำรองและเงินลงทุน ที่พอจะทำให้อุ่นใจได้ว่า การเงินส่วนตัวมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง
สถานะการเงินและหลักในการจัดสรรสินทรัพย์ของผม
งบการเงินที่แสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินของผม รวมถึงประกันที่ผมมี ในปัจจุบัน เป็นดังนี้
โดยแนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง การบริหารจัดการเงิน จนมีสถานะดังตารางข้างต้น ได้แก่
- สินทรัพย์สภาพคล่อง ผมต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงพอให้อุ่นใจว่า แม้ไม่มีรายได้ ผมยังมีเงินเก็บให้พอใช้จ่ายได้อย่างน้อย 1 ปี ซึ่งเท่าที่ผมประเมินไว้ คือประมาณ 400,000 บาท โดยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 39x,xxx บาท
- สินทรัพย์ลงทุน
- กองทุนทั่วไป ผมใช้เพื่อฝึกฝนการซื้อขาย เพื่อทดสอบทฤษฎีการลงทุน จึงมีจำนวนไม่มาก
- TMBABF เป็นกองตราสารหนี้ระยะกลาง ที่ผมไว้พักเงินสำหรับเป้าหมายที่อาจจะใช้เงินในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เช่น เงินแต่งงาน จึงเตรียมไว้ประมาณ 3xx,xxx บาท
- LTF และ RMF ผมลงทุนไว้เพื่อใช้ตอนเกษียณหลังอายุ 60 ปี ซึ่งผมมี DCA RMF อยู่เดือนละ 10,000 บาท
- สินทรัพย์ส่วนตัว คือมูลค่ารถและคอนโดที่ผมมีอยู่ รถเป็นรถเก่าของคุณพ่อ ซึ่งผมขอซื้อต่อ ปัจจุบันผ่อนอยู่เดือนละ 5,000 บาท ส่วนคอนโดผมเพิ่งซื้อเมื่อปลายปีที่แล้ว (2561) เป็นคอนโดมือ 2 อยู่ใจกลางเมือง ขนาดประมาณ 40 ตร.ม.ซื้อมาราคา 2.2 ล้านบาท ปัจจุบันผ่อนอยู่เดือนละ 12,000 บาท (ส่วนฝั่งหนี้สินก็คือหนี้รถและคอนโดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน)
- ประกันที่ทำ ผมทำประกันอยู่ 4 อย่าง โดย 3 อย่างที่ปรากฎในตารางคือ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และประกันอุบัติเหตุ เพื่อคุ้มครองเหตุไม่คาดฝันต่างๆ และอีก 1 อย่างที่ไม่อยู่ในตาราง คือ ประกันรถยนต์ชั้น 2+ ค่าเบี้ยประมาณ 5,700 บาทต่อปี
- ประกันสุขภาพ ผมทำแผนประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยใน พ่วงกับประกันชีวิตแบบตลอดชีพที่ทำแบบทุนประกันชีวิตขั้นต่ำสุด โดยมีวงเงินความคุ้มครองค่ารักษาต่อปี 3 ล้านบาท เบิกค่าห้อง + ค่าอาหารได้คืนละ 5,200 บาท และมีค่ารักษาผู้ป่วยนอก ปีละ 12,000 บาท ซึ่งผมประเมินแล้วว่าเพียงพอครอบคลุมค่ารักษาและค่าห้องของโรงพยาบาลเอกชนที่ผมจะใช้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผมมาก เนื่องจากผมทำอาชีพอิสระ ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลอะไร จึงต้องมีไว้
- ประกันชีวิต ผมเพิ่งทำตอนกู้ซื้อคอนโด เพื่อให้คุ้มครองมูลค่าหนี้คอนโด 2 ล้านบาท เผื่อผมจากไปกะทันหัน คนข้างหลังจะได้ไม่ต้องมาเดือดร้อนรับภาระต่อ โดยเลือกทำแบบชั่วระยะเวลา (Term) หรือแบบจ่ายทิ้ง มีความคุ้มครอง 20 ปีตามระยะเวลาที่ผมคาดว่าจะปิดยอดหนี้ได้หมด เพื่อประหยัดค่าเบี้ยประกันที่สุด
- ประกันอุบัติเหตุ ผมซื้อไว้เผื่อกรณีเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ ที่อาจจะต้องรักษาโดยไม่นอนโรงพยาบาล จะได้มีวงเงินอีกก้อนไว้รองรับ ครั้งละ 35,000 บาท นอกเหนือจากวงเงินค่ารักษาผู้ป่วยนอกของประกันสุขภาพ
- รวมค่าเบี้ยประกันทั้งหมดที่ผมต้องจ่าย ต่อปีประมาณ 35,xxx บาท (ถ้ารวมประกันรถยนต์ก็ประมาณ 41,000 บาท)
การบริหารรายรับ-รายจ่ายของผม
ในส่วนนี้ ผมมีการวางแผนเงินรับ-จ่ายไว้ดังต่อไปนี้
รายรับ
- แหล่งรายได้ที่ 1 คือ ค่าคอมมิชชั่นจากกองทุนรวม ซึ่งปัจจุบัน (มิ.ย. 62) ผมมีมูลค่าเงินลงทุนของลูกค้าภายใต้การดูแล (Asset Under Management : AUM) ที่ค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ อยู่ประมาณ 230 ล้านบาท ซึ่งจะได้ค่าคอมมิชชั่นอยู่ราวๆ 480,000 บาทต่อปี หรือประมาณเดือนละ 40,000 บาท และค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ตามเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าทั้งเก่าและใหม่
- แหล่งรายได้ที่ 2 คือ ค่าคอมมิชชั่นจากประกัน โดยเฉลี่ยจะมีลูกค้าซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพกับผมเดือนละประมาณ 2-3 คน ค่าเบี้ยประมาณคนละ 30,000 บาท ผมก็จะมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นตรงนี้ประมาณเดือนละ 6,000 – 9,000 บาท
- แหล่งรายได้ที่ 3 คือ ค่ารับจ้างอื่นๆ เช่น ค่าเขียนบทความ ค่าบรรยาย ค่าที่ปรึกษา ค่าแนะนำลูกค้า ประมาณปีละ 200,000 บาท
- โดยเฉลี่ย ผมจะมีรายได้ทั้งปีประมาณ 780,000 บาท หรือประมาณเดือนละ 65,000 บาท
รายจ่าย
- ค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่าช็อปปิ้งซื้อของ ประมาณเดือนละ 20,000 – 25,000 บาท
- ค่าท่องเที่ยว ผมตั้งงบไว้ประมาณปีละ 30,000 – 40,000 บาท โดยปกติก็คือ แบกเป้เที่ยวต่างประเทศปีละ 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5-7 วัน เน้นเดิน ไม่เน้นหรู
- ค่ารถ คุณพ่อยกรถคันเก่าให้ใช้ แต่ผมขอจ่ายคืนให้เดือนละ 5,000 บาท ถือเป็นค่าเลี้ยงดูไปในตัว
- ค่าที่อยู่อาศัย ผมพิจารณาจากรายได้ตัวเอง ว่ากำลังผ่อนของผมจะอยู่ประมาณเดือนละ 12,000 – 15,000 บาท ถึงจะไม่เป็นภาระที่หนักเกินไป เมื่อคิดย้อนกลับ ก็จะได้เป็นราคาที่อยู่อาศัยประมาณ 2 – 2.5 ล้านบาท ผมเลยเลือกซื้อเป็นคอนโดมือ 2 ย่านใจกลางเมือง ซึ่งโชคดีที่เจอคนประกาศขายราคาไม่แพงมาก ทำเลดี และยังสภาพดี เหมาะแก่การสร้างครอบครัว และทำงานใจกลางเมืองของผม เลยตัดสินใจซื้อมา ดาวน์ไปประมาณ 20% เหลือผ่อนประมาณเดือนละ 12,000 บาท สัญญา 30 ปี ค่าส่วนกลางอีกประมาณเดือนละ 1,300 บาท
- ค่าเบี้ยประกัน ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันรถ ทั้งหมดประมาณ 41,000 บาทต่อปี รถมีค่าซ่อมบำรุงอีกประมาณปีละ 5,000 – 6,000 บาท
- ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลังคิดหักค่าลดหย่อนต่างๆ จะอยู่ที่ขั้นภาษีสูงสุด 10% รวมภาษีประมาณ 26,000 บาท
- ค่าสมาชิกทีม ที่ต้องจ่ายให้กับทีม Avenger Planner ไตรมาสละ 9,000 บาท
- รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของผมตกประมาณปีละ 640,000 กว่าบาท หรือเดือนละ 53,000 กว่าบาท
เงินออมและเป้าหมายการออม/การลงทุน
- เมื่อนำรายรับหักออกด้วยรายจ่าย ผมจะมีเงินเหลือใช้ประมาณเดือนละ 10,000 – 12,000 บาท ผมก็จะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในกองทุน RMF เพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ โดยลงทุนเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท ใช้วิธีตัดบัญชีลงทุนอัตโนมัติไปเลย แต่ถ้าปีไหนรายได้ไม่ถึง 800,000 บาท ผมก็จะให้หยุดตัดบัญชีช่วงปลายๆ ปี เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่ซื้อ RMF เกินสิทธิ์
- พอร์ต RMF ของผมจะจัดพอร์ตคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับ LTF และ RMF ที่มีอยู่ คาดการณ์ว่า ณ ตอนอายุ 60 ปี ผมน่าจะมีเงินเตรียมไว้เพื่อเกษียณทั้งหมดราว 16 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอให้ผมใช้จ่ายได้ประมาณเดือนละ 30,000 บาท (ค่าเงิน ณ มูลค่าปัจจุบัน) ไปจนถึงอายุ 85 ปี (ไม่รวมรายได้จากค่าคอมมิชชั่นกองทุนรวม ที่ตอนนั้นก็อาจจะยังได้รับอยู่)
- เป้าหมายรองอื่นๆ เช่น เตรียมเงินแต่งงาน เปลี่ยนรถคันใหม่ หรือ ค่าซ่อมแซมปรับปรุงคอนโดในอนาคต ผมคาดว่า เมื่ออนาคตมีรายได้มากขึ้นกว่านี้ ก็จะนำไปออมเพื่อเป้าหมายเหล่านั้นต่อไป โดยมีเงินส่วนหนึ่งเตรียมเผื่อไว้แล้วในกองทุนตราสารหนี้ ประมาณ 300,000 บาท
- เนื่องจากรายได้ของผมและแฟน 2 คนยังไม่เหลือพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ อีก รวมถึงเหตุผลด้านสังคมและความเชื่อ ผมกับแฟนจึงตัดสินใจว่า หากแต่งงานกันก็คงจะตัดสินใจไม่มีลูก เพื่อไม่ให้มีปัญหาการเงิน และการใช้ชีวิตส่วนตัว
บทสรุปและฝากทิ้งท้าย
จากการวางแผนและบริหารจัดการเงินดังกล่าว และการคอยหมั่นจดบันทึก ตรวจสอบอยู่เป็นประจำ ผมก็เชื่อว่า ภายใต้แนวคิดการทำงานที่ยึดถือผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ ไม่เน้นการขายผลิตภัณฑ์เพื่อทำยอดนั้น ก็สามารถทำให้การเงินส่วนตัวของผมมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง ซึ่งเพียงพอกับรายจ่ายตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ภาระต่างๆ ที่มีก็ไม่หนักมาก มีการออมอย่างเป็นระบบ และมีการคุ้มครองความเสี่ยงที่ครอบคลุมเพียงพอให้อุ่นใจได้ว่า จะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนต่างๆ ได้ และมีโอกาสที่จะมั่งคั่งขึ้นด้วยในอนาคต
ผมหวังว่า บทเรียนทางการเงินของผม จะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การทำงานในอาชีพนักวางแผนทางการเงินโดยไม่เน้นยอดขาย แต่เน้นไปที่การวางแผนให้ลูกค้าตามความจำเป็นจริงๆ ก็สามารถเลี้ยงชีพให้อยู่ได้อย่างมั่นคง แต่จะถือว่ารวยหรือไม่นั้น ผมขอให้ท่านผู้อ่าน เป็นผู้ตัดสินเองจะดีกว่า
สุดท้ายนี้ ถ้าจะให้สรุปหัวใจหลักของการวางแผนการเงินของผม ที่อยากจะฝากไว้ คงมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง
- ไม่พึ่งพารายได้จากแหล่งเดียว พยายามมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงถ้ารายได้จากแหล่งใดลดลงไป ก็ยังมีรายได้จากแหล่งอื่นๆ คอยพยุงไว้ ทำให้รายได้รวมไม่ได้รับผลกระทบมาก
- ประเมินกำลังความสามารถของตัวเองให้เหมาะสม จากรายได้ที่หาได้ ว่าควรจะมีภาระเท่าไหร่ถึงจะไม่มากเกินไป เป้าหมายที่ต้องการ เช่น บ้าน รถ ควรจะมีราคาไม่เกินเท่าไร หรือเป้าหมายไหนยังไม่ควรเริ่ม เช่น มีบุตร เพื่อไม่ให้ตัวเองมีปัญหาด้านการเงินตามมา
- จัดสรรการใช้จ่ายและการออมให้สมดุลและครอบคลุม ไม่หนักด้านใดด้านหนึ่งเกินไปจนละเลยด้านอื่นๆ เช่น มีทั้งการทำประกันที่ครอบคลุมหลายๆ ด้าน ไปพร้อมๆ กับการออมที่มีโอกาสถึงเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีแหล่งเงินฉุกเฉิน และมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ตามสมควร
- มีแผนสำรองอยู่เสมอ เช่น ถ้ารายได้ไม่เป็นไปตามคาด ผมจะแก้ปัญหาด้วยการพยายามหารายได้จากแหล่งอื่นเพิ่มขึ้น ไปพร้อมๆ กับลดค่าใช้จ่ายบางอย่างลง (เช่น ค่าท่องเที่ยว)
หวังว่าวิธีการวางแผนการเงินของผม จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนบ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ