สถานการณ์การลงทุน และแนวทางการจัดการ ณ 6 ส.ค. 62
06/08/2019แค่ทำตามแผนยังไม่พอ… ควรต้องเข้าใจที่มาของแผนด้วย
07/10/2019เมื่อวัยเกษียณมาถึง
เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้เลือกที่จะเกษียณตัวเอง หรือถูกกำหนดให้เกษียณโดยผู้อื่นก็ตาม ท่านย่อมพบกับความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่หลายสิ่ง เช่น
- รายได้ประจำที่อาจลดลงหรือหมดไป
- ร่างกายที่อาจต้องดูแลมากขึ้นจากการใช้งานมายาวนาน
- ลูกๆ ที่เข้าสู่วัยทำงาน การได้มีหลานๆ ให้ชื่นชม
- เวลาในแต่ละวันมีมากขึ้นจากการไม่ต้องไปทำงานประจำ
หลายๆ สิ่งที่เคยทำมา อาจกลายเป็นอดีตไป จากโลกที่หมุนเร็วขึ้นอย่างมาก
บางท่านอาจเริ่มหาความหมายใหม่ให้กับชีวิต โดยเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อจะได้สร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับตนเอง เพราะถึงแม้ว่าท่านจะได้ชื่อว่าเป็น “ผู้เกษียณอายุ” ก็ไม่ใช่ว่าท่านจะไม่สามารถเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ให้กับตนเองได้นะครับ
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากอายุเฉลี่ยประชากรของประเทศไทยที่มีค่ามากกว่า 85 ปี และมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวขึ้นได้อีก ทำให้ผู้ที่เกษียณอายุมีเวลาหลังจากเกษียณมากถึง 25-30 ปี ซึ่งยาวนานจนแทบไม่ต่างกับช่วงเวลาที่ใช้ในการทำงานเลย จึงเป็นไปได้เสมอที่ผู้เกษียณอายุแล้ว จะริเริ่มเรียนรู้และทำในสิ่งใหม่ๆ ครับ
แต่แผนการเงินเพื่อเกษียณอายุ… ก็อาจผิดพลาดได้
เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตที่ดีหลังเกษียณอายุนั้น หลายท่านก็ได้มีการวางแผนการเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะการวางแผนเรื่องเงินที่เป็นปัจจัยหลัก แต่แม้จะวางแผนการเงินไว้อย่างรอบคอบและระมัดระวังเพียงใด ก็ยังมีโอกาสผิดพลาดได้อยู่ดี
หากความผิดพลาดนั้นอยู่ในขอบเขตที่ยังสามารถทำให้ท่านเกษียณได้อย่างเพียงพอก็คงไม่กระทบมากนัก แต่สำหรับบางท่าน ความคลาดเคลื่อนจากแผนที่วางไว้นั้น อาจถึงขั้นทำให้มีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณได้
ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นจริง แนวทางที่ผมเห็นว่า อาจจะพอช่วยให้ท่านแก้ไขสถานการณ์ได้ มีทั้งสิ้น 5 แนวทางดังนี้ครับ
1. ลดรายจ่าย
ผมขอเริ่มจากสิ่งที่ตัวผู้เกษียณอายุสามารถทำได้ด้วยตนเองก่อนนะครับ นั่นคือการลดรายจ่ายหรือการลดเป้าหมายบางอย่างลงจากเดิม เช่น
- อาจลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร ด้วยการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้รับประทานอาหารที่ดี และทำให้ได้ออกกำลังกายอีกทางหนึ่งด้วย ดีไม่ดีพอสุขภาพแข็งแรงขึ้น ก็อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปได้อีกต่อหนึ่ง
- อาจประหยัดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวหลังเกษียณ โดยเลือกไปเที่ยวช่วงที่ราคาไม่สูง เมื่อเจอโปรโมชั่นหรือแพ็คเก็จที่อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้และถูกใจ ก็ค่อยตัดสินใจไป แทนที่จะจ่ายในราคาเต็ม ซึ่งมักจะแพงกว่ามาก
- บางท่านอาจเลือกเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในต่างจังหวัดที่มีค่าครองชีพที่ต่ำกว่าในเมืองก็เป็นไปได้ครับ เพียงแต่ในการไปใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ๆ นี้ ผมแนะนำให้ท่านลองไปใช้ชีวิตในแบบที่คิดไว้ดูก่อนนะครับ เพราะหลายๆ อย่างตอนที่คิด กับตอนที่ต้องไปทำจริงๆ มันอาจต่างกันมาก
หากท่านสามารถออกแบบชีวิต จนสามารถลดรายจ่ายหลังเกษียณลง โดยไม่ได้ลดระดับของความสุขมากเกินไป ก็จะช่วยให้เงินทุนสำหรับใช้จ่ายช่วงหลังเกษียณนั้น ดำรงอยู่ได้นานยิ่งขึ้น โดยที่ท่านก็ยังยิ้มได้ ไม่ใช่เป็นการทรมานตัวเองครับ
2. หารายได้เพิ่มเติม
การเกษียณอายุ ไม่ได้หมายความว่าจะหารายได้เพิ่มไม่ได้
ผมเชื่อว่าผู้เกษียณอายุ ล้วนผ่านประสบการณ์ต่างๆ มามากมาย เรียกได้ว่าท่านเป็นคน “มีของ” ครับ หลายท่านยังคงมีกำลังวังชาไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ยังอยู่ในวัยทำงานด้วยซ้ำ เมื่อท่านมีทั้งประสบการณ์ มีทั้งแรง หากเลือกได้ท่านอาจเลือกที่จะยืดอายุการทำงานต่อไปอีกสักหน่อย เช่น เกษียณเป็น 63 ปี จาก 60 ปี
หรือหากไม่สามารถยืดอายุเกษียณได้ ท่านอาจหารายได้เสริมเพิ่มเติมจากงานอิสระ เช่น ท่านอาจกลับไปเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับองค์กรเดิม หรือองค์กรที่มีลักษณะงานใกล้เคียงเดิม หรืออาจทำสิ่งใหม่ๆ ที่ต้องการก็ยังได้ครับ
ซึ่งการหารายได้หลังเกษียณนั้น ก็มีความเป็นไปได้หลายอย่าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทักษะและความรักความชอบที่ท่านมีต่องานนั้นๆ อาทิ การสอนหนังสือ แต่งหนังสือ ทำธุรกิจส่วนตัว เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ บางท่านยังสามารถเป็น Influencer ในสายงานต่างๆ ซึ่งก็มีหลายสายทานที่ไม่มีอายุมาเป็นข้อจำกัด
การทำงานในวัยเกษียณนี้ สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่เพียงเงินที่ได้รับ แต่อาจเป็นคุณค่าที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต ซึ่งอาจทำให้ผู้เกษียณอายุที่ยังทำงานอยู่ รู้สึกมีความสุขมากกว่าการอยู่ว่างๆ ด้วยซ้ำไปครับ
3. ใช้บุญเก่า
ผู้เกษียณอายุหลายท่าน อาจมีสมบัติเก่าที่สะสมไว้ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องประดับ พระเครื่อง ที่ดิน บ้าน ฯลฯ หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินมากเกินกว่าแผนที่เตรียมการไว้ การนำบุญเก่าเหล่านี้มาใช้อาจเป็นทางออกได้อีกทางหนึ่งครับ
หลายท่านอาจรู้สึกเสียดายที่ต้องขายสมบัติเก่าที่มีไป แต่หากชั่งใจว่าการขายคือสิ่งจำเป็นแล้ว ผมเชื่อว่าการสูญเสียนั้น บางครั้งก็ทำให้เราไม่เสียศูนย์ และอาจเป็นโอกาสทำให้ได้พบได้ทำอะไรใหม่ๆ โดยท่านอาจได้รับบางสิ่งมาทดแทนของสะสมชิ้นเดิม ซึ่งอาจเกิดเป็นความทรงจำดีๆ ขึ้นอีกมากมาย
นอกจากการขายสินทรัพย์ที่มีออกไป ก็อาจมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางอย่าง ที่สามารถเข้ามาช่วยได้ ตัวอย่างเช่น สำหรับบ้านที่ท่านอยู่อาศัย ท่านอาจเลือกใช้สินเชื่อประเภท Reverse Mortgage ซึ่งก็คือการนำบ้านที่ท่านเป็นเจ้าของ มาทำสัญญากู้เงินกับธนาคาร โดยธนาคารจะจ่ายเงินให้ท่านเป็นรายเดือน เพื่อนำมาใช้เป็นรายได้ ไปจนกระทั่งผู้กู้เสียชีวิต ในระหว่างนั้น ท่านก็ยังคงสามารถอยู่อาศัยในบ้านได้เช่นเดิม เป็นต้น
4. ใช้บุญคุณที่มี
วิธีนี้อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนักนะครับ แต่หากไม่มีทางเลือกแล้ว ก็อาจต้องรบกวนลูกหลานหรือญาติพี่น้องให้เข้ามาช่วยเหลือจุนเจือ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่แต้มความสัมพันธ์ที่สะสมไว้แล้วครับ
ท่านอาจเลือกที่จะไม่รับเงินเปล่าๆ แต่แลกกับการช่วยงานที่ท่านพอจะทำได้ เช่น ช่วยทำงานบ้าน ช่วยดูแลสวน ช่วยเลี้ยงหลาน เป็นต้น
ในทางกลับกัน บางครั้งการที่ลูกหลานได้ดูแลท่าน ก็อาจเป็นความสุขของตัวลูกหลานเองได้เช่นกันนะครับ ที่ได้ทดแทนบุญคุณแก่ท่าน เพราะไม่ใช่เพียงแต่ลูกหลานที่เป็นความรักของท่าน แต่ท่านก็คือความรักของลูกหลานเช่นกันครับ
ข้อนี้ในการนำไปปฏิบัติจริง คงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วยนะครับ ว่าตัวท่านจะนำภาระไปเพิ่มให้กับลูกหลานมากเกินไปหรือไม่ครับ
5. เพิ่มผลตอบแทนของการลงทุนหลังเกษียณอายุ (แบบมีขอบเขต)
เรื่องนี้ผมขอนำมาไว้เป็นข้อสุดท้ายครับ เพราะโจทย์สำคัญของการลงทุนหลังเกษียณอายุ คือ เพื่อให้มีเงินพอกินพอใช้ไปตลอดชีวิต ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งก็ไม่ควรจะเสี่ยงมากนัก
แต่หากผลตอบแทนที่ท่านต้องการได้เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้มากจนเกินไป และท่านได้ทำความเข้าใจความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว พบว่าเป็นสิ่งที่ท่านยอมรับได้ การปรับพอร์ตเพื่อเพิ่มผลตอบแทนก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง
ซึ่งก็อาจทำได้โดยการแบ่งเงินเป็นส่วนๆ และวางแผนลงทุนให้มีผลตอบแทนและความเสี่ยงแตกต่างกัน เช่น เงินส่วนที่จะต้องใช้ในระยะเวลาอันใกล้ ก็เน้นลงทุนให้ปลอดภัยเช่นเดิม แต่เงินส่วนที่จะใช้ในระยะเวลาอีกหลายปีข้างหน้า ก็อาจจะขยับความเสี่ยงขึ้นไปได้ เป็นต้น
บทสรุป
หากผู้เกษียณอายุทุกคน สามารถจะวางแผนการเงินเพื่อเตรียมเกษียณได้อย่างรัดกุม มีการเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้เป็นอย่างดี ก็คงจะเป็นอะไรที่ดีที่สุดนะครับ เพราะคงจะไม่ต้องใช้แนวทางทั้ง 5 วิธีการในบทความนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีลักษณะเป็น “แผนสำรอง” ที่ไม่น่าปรารถนาเท่าใดนัก
แต่ต่อให้เตรียมการอย่างดีที่สุด ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะไม่เปลี่ยนแปลง และใช่ว่าใครจะวางแผนได้ถูกไปทุกๆ เรื่อง
ดังนั้น การที่เราได้รู้จักแนวทางการจัดการกับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นไว้ก่อน เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์จริงๆ ก็จะทำให้เราไม่ “ตื่นตระหนก” มากจนเกินไป จนทำให้อาจขาดสติ และตัดสินใจบางอย่างผิดพลาด ทั้งที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นครับ