ลดหย่อนภาษีด้วยอะไรดี ? ระหว่างประกัน vs กองทุนรวม
21/08/2024วางแผนให้ดี ก่อนคิดจะสร้างรายจ่ายคงที่
03/09/2024เผยแพร่เมื่อ : 27 สิงหาคม 2567
อาชีพแพทย์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่คนจำนวนมากใฝ่ฝัน ด้วยรายได้ที่สูง และสถานะทางสังคมที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม แพทย์ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายทางการเงินในรูปแบบที่แตกต่าง จากอาชีพอื่น ๆ เช่นกัน
บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ "แผนการเงินแบบองค์รวมของแพทย์" ว่ามีความแตกต่างจากแผนการเงินของผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ อย่างไรครับ
1. มีรูปแบบรายได้และค่าใช้จ่ายที่แตกต่างจากอาชีพอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนที่ต้องเฝ้าระวัง
1.1 มีอัตรารายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ
เนื่องจากแพทย์มักมีรายได้อื่น ๆ นอกจากเงินเดือนที่ได้รับจากสถานพยาบาล เช่น
- ค่าตรวจรักษาผู้ป่วย
- ค่าผ่าตัดและหัตถการ
- รายได้เพิ่มเติมจากการทำงานนอกเวลา
- รายได้จากการไปปฏิบัติงานที่สถานพยาบาลอื่น ๆ
โดยรายได้พิเศษเหล่านี้ มักมีความไม่แน่นอน ยกตัวอย่างในกรณีที่ชั่วโมงการทำงานลดลง หรือในเดือนนั้น ไม่ได้ไปปฏิบัติงานที่สถานพยาบาลอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มที่รายได้จะลดลงเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการจัดทำงบประมาณรายรับ รายจ่าย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เพราะหากไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ก็อาจส่งผลให้มีปัญหาสภาพคล่อง และไม่สามารถจัดสรรเงินไปใช้จ่ายหรือเก็บออมตามเป้าหมายได้อย่างที่ตั้งใจ โดยเฉพาะในเดือนที่รายได้ลดลง
1.2 มักจะมีภาระหนี้สินก้อนใหญ่จากค่าใช้จ่ายในการศึกษา
เนื่องจาก การเป็นแพทย์ต้องใช้ระยะเวลานานในการศึกษา เมื่อเทียบกับสาขาอาชีพอื่น ๆ โดยเมื่อเข้าสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษา แพทย์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปีเพื่อสำเร็จการศึกษาเป็นแพทย์ทั่วไป และเริ่มที่จะมีรายได้
ซึ่งด้วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของแพทย์ที่ค่อนข้างสูงและใช้เวลานาน ส่งผลให้ นักศึกษาแพทย์ส่วนหนึ่งจะมีหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อชำระค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในระหว่างเรียน
ซึ่งถ้าไม่มีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี หรือไม่มีแผนในการชำระหนี้สินคืน ก็อาจส่งผลให้กลายเป็นปัญหาภาระหนี้สินเรื้อรังได้ในระยะยาว
1.3 มักมีค่าใช้จ่ายพิเศษอื่น ๆ
แพทย์มักจะมีค่าใช้จ่ายพิเศษอื่น ๆ อาทิ ค่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียน หรือค่าฝึกอบรมพิเศษ ที่มักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
ซึ่งถ้าไม่มีการวางแผน หรือตั้งงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายประเภทนี้ไว้ ก็สามารถส่งผลต่อปัญหาด้านสภาพคล่อง แผนการออม แผนการลงทุน หรือการเงินด้านอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน
2. เข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่าง
2.1 มีสวัสดิการสุขภาพที่ครบถ้วน แต่ยังคงมีความเสี่ยง
แพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล มักจะมีสวัสดิการสุขภาพที่ครอบคลุม โดยถ้าได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่แพทย์ประจำอยู่ ก็มักจะเบิกค่ารักษาได้เกือบทั้งหมด
ทำให้แพทย์จำนวนหนึ่งมองว่า การทำประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากมีสวัสดิการด้านสุขภาพที่ครบถ้วนเพียงพออยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามการมีสวัสดิการที่ครบถ้วน ก็ยังมีสิ่งที่ควรต้องเฝ้าระวัง ยกตัวอย่างกรณีที่มีการเปลี่ยนโรงพยาบาลที่ทำงาน แต่โรงพยาบาลที่ใหม่ไม่ได้มีสวัสดิการในลักษณะเดียวกัน ความคุ้มครองด้านสุขภาพที่เคยมีอยู่ก็จะหายไป
หรือในกรณีที่เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน และไม่ได้เป็นข้าราชการ เมื่อต้องเกษียณจากอาชีพ สวัสดิการเหล่านี้สามารถหายไปได้เช่นเดียวกัน
ซึ่งถ้าแพทย์ต้องการทำประกันสุขภาพในภายหลัง เมื่อสวัสดิการที่มีหายไป ก็อาจไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ เนื่องจากบริษัทประกันจะพิจารณาถึงประวัติสุขภาพในขณะที่ยื่นทำประกันด้วย โดยเมื่ออายุเพิ่มขึ้น สุขภาพก็อาจมีแนวโน้มเสื่อมถอยลง เพราะฉะนั้นโอกาสที่บริษัทประกัน จะรับทำประกันก็จะยิ่งน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้นนั่นเอง
เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีสวัสดิการสุขภาพที่ครบถ้วนแล้ว ก็ควรมีการทำประกันสุขภาพไว้บางส่วน เผื่อในกรณีที่สวัสดิการที่มีอยู่นั้นหายไป ก็จะยังเหลือความคุ้มครองจากประกันที่ทำไว้เอง ซึ่งสามารถช่วยแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในกรณีที่เจ็บป่วยได้
2.2 มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูก
สถาบันการเงินต่างๆ มักจะมีสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ ให้กับกลุ่มวิชาชีพทางการแพทย์โดยเฉพาะ โดยมักมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า และ/หรือ มีระยะเวลาการกู้ยาวกว่าสินเชื่อ สำหรับอาชีพอื่นๆ
แต่ในข้อดีนี้ก็อาจจะเป็นข้อเสียได้เช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกจึงอาจเป็นแรงจูงใจให้แพทย์กู้ หรือใช้สินเชื่อเกินความจำเป็นได้เช่นกัน เช่น การซื้อบ้านในราคาที่สูงมาก ๆ หรือ ซื้ออสังหาริมทรัพย์พร้อมกันหลายแห่ง เป็นต้น
ซึ่งถ้าหากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดี ก็อาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่มีการกู้หนี้ยืมสินมากเกินความจำเป็น และส่งผลเป็นปัญหาหนี้สินต่อไปได้
3. เป้าหมายทางการเงินที่มีความแตกต่าง
3.1 อาจต้องการวางแผนเกษียณอายุเร็ว
เนื่องจากอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่มีความเครียด ความกดดันสูง นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของสภาวะร่างกาย ซึ่งสำหรับแพทย์เฉพาะทางในบางด้าน การมีปัญหาสุขภาพ อาจส่งผลถึงขั้นที่ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้เช่นเดิม และทำให้มีรายได้ที่ลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ
จึงมีแพทย์จำนวนหนึ่งที่ต้องการวางแผนเกษียณอายุไว้ล่วงหน้า และต้องการมีอิสรภาพทางการเงินโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเอง
3.2 สามารถเข้าถึงเครื่องมือในการลงทุนได้หลากหลาย
จากที่อาชีพแพทย์มักจะถูกมองว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง ส่งผลให้แพทย์จะมีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือทางการลงทุนที่ค่อนข้างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุน ประกัน หุ้นกู้ หรือกระทั่งผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูง ทั้งจากในและต่างประเทศ
แต่ด้วยการที่แพทย์ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน จึงอาจมีเวลาศึกษาเรื่องการลงทุนไม่มากนัก ส่งผลให้มีโอกาสที่แพทย์จะตัดสินใจลงทุนผิดพลาดและขาดทุนได้
เนื่องจากไม่มีเวลาศึกษารายละเอียดที่มากพอก่อนตัดสินใจลงทุน หรือกรณีเลวร้ายคือถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุน และต้องสูญเสียเงินก้อนใหญ่
เพราะฉะนั้นด้วยอาชีพแพทย์ที่มีฐานรายได้สูง มีเงินลงทุนเยอะ ในการตัดสินใจลงทุนแต่ละครั้ง จึงควรใช้เวลาในการศึกษาให้เพียงพอ เนื่องจากในเวลาที่ลงทุนผิดพลาด ก็มีโอกาสที่แพทย์จะได้รับความเสียหายและขาดทุนได้มากเช่นกัน
บทสรุป
จากที่แผนการเงินของแพทย์มีความซับซ้อนมากกว่าแผนการเงินของอาชีพทั่วไป การที่แพทย์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการวางแผนการเงินให้เป็น "องค์รวม" รอบด้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะลำพังเพียงการหารายได้ได้มากๆ นั้น อาจไม่เพียงพอรองรับกับความเสี่ยงหรือภาระต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนตั้งแต่ในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว
โดยสำหรับแพทย์ท่านใดที่มีเวลาและมีความสนใจ ที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านการวางแผนการเงิน ก็ย่อมจะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันไปพร้อมกับการติดอาวุธ ให้แพทย์ท่านนั้น สามารถที่จะประสบความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงาน และทางการเงินได้ควบคู่กันไป
แต่สำหรับแพทย์ท่านใด ที่ไม่ได้มีเวลา หรือไม่ได้มีความสนใจ ที่จะศึกษาลงลึกในเรื่องการเงินนั้น การเลือกใช้บริการจากนักวางแผนการเงินที่มีทักษะและประสบการณ์เฉพาะในด้านการเงิน ก็จะเป็นการช่วยทุ่นแรง (Leverage) ให้แพทย์สามารถที่จะโฟกัสกับวิชาชีพและชีวิตด้านอื่นๆ ของตนได้อย่างเต็มที่
สำหรับ บลป. Avenger Planner นั้น เราเป็นทีมนักวางแผนการเงิน ที่ได้รับโอกาสจากแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขจำนวนมาก ให้ช่วยดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องแผนการเงินแบบองค์รวม และแผนการเงินเฉพาะด้าน อีกทั้งในทีมเองก็ยังมีนักวางแผนการเงินที่มี Background เป็นแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขในหลากหลายสาขา ทำให้เรามีความเข้าใจและความพร้อม ที่จะเป็นตัวช่วยให้กับแพทย์ทุกๆ ท่าน ให้สามารถจัดการเงินได้อย่างถูกต้องและมีความสบายใจมากยิ่งขึ้น
ซึ่งท่านที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียด และสมัครใช้บริการวางแผนการเงินได้จาก Link นี้ หรือคลิกที่ป้ายด้านล่างครับ