Freelance กับรายได้ที่ไม่แน่นอน : วางแผนการเงินอย่างไรให้มั่นคง
17/09/2024หลักการตัดสินใจ : ลดเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อนำมาลงทุนเอง
22/09/2024ทำไมเราต้องตั้งเป้าหมายทางการเงิน ?
ถ้าเราลองนึกดูดีๆ จะพบว่า “เงิน” กับ “ชีวิต” เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสิ่งที่เราต้องการในชีวิตจำนวนไม่น้อย ต้องใช้เงิน เป้าหมายชีวิตส่วนใหญ่ จึงกลายมาเป็นเป้าหมายทางการเงินไปโดยปริยาย
ถ้าเป้าหมายนั้นใช้เงินไม่เยอะ เช่น อยากพาคุณพ่อคุณแม่ไปกินข้าวนอกบ้านทุกเดือน ก็อาจไม่ต้องคิดไม่ต้องเตรียม (เงิน) มาก
แต่ถ้าเป้าหมายนั้นใช้เงินเยอะ เช่น ซื้อบ้าน รถ เที่ยวต่างประเทศ (ยิ่งถ้ามีหลาย ๆ เป้าหมาย) ย่อมต้องวางแผนล่วงหน้า และใช้เวลาในการดำเนินการตามแผน จึงจะไปถึงเป้าหมายได้
เป้าหมายการเงิน เอาไปใช้วางแผนการเงินอย่างไร ?
การวางแผนการเงิน ขั้นตอนหลักๆ ประกอบไปด้วย
1. เริ่มจากการตั้งเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งมีคำถาม 3 ข้อที่เราต้องตอบให้ได้ คือ อะไร ? เท่าไร ? และ เมื่อไร ?
- เป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการ คือ อะไร ?
- เป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการนี้ ต้องใช้เงิน เท่าไร ?
- เป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการนี้ ต้องใช้เงิน เมื่อไร ?
ยกตัวอย่าง การตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ดี เช่น ต้องการซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท ในอีก 5 ปี โดยต้องเก็บเงินดาวน์ 5 แสนบาท เป็นต้น
2. กำหนดวิธีเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เช่น ปัจจุบันมีเงินสำหรับเป้าหมายนั้นๆ เท่าไร ต้องออมหรือลงทุนเพิ่มเดือนละเท่าไร รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้แค่ไหน และใช้พอร์ตการลงทุนแบบไหน เป็นต้น
3. จากนั้นก็ลงมือทำ และติดตามผล
ทำไมต้องวางแผนให้ครบทุกเป้าหมาย หรือที่เรียกว่าวางแผนแบบ “องค์รวม” ?
เพราะคนส่วนใหญ่มีเงิน “จำกัด” แต่มีหลากหลายเป้าหมายชีวิต ถ้าวางแผนการเงินหรือให้ความสำคัญการเป้าหมายบางเป้าหมายมากเกินไป อาจเบียดบังเป้าหมายอื่น จนไปไม่ถึงเป้าหมาย หรือ ไปถึงช้ากว่าที่ควรจะเป็น
การวางแผนการเงินแบบองค์รวม จึงพยายามคำนึงถึงทุกเป้าหมาย ให้ครอบคลุม และ มีการจัดลำดับความสำคัญ ของเป้าหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการและข้อจำกัดของเรา
แล้วถ้าเรา “ไม่” ตั้งเป้าหมายทางการเงินล่ะ !!??
การไม่ตั้งเป้าหมายทางการเงิน ก็คือการทำตรงกันข้ามกับที่เล่ามาข้างต้นทั้งหมด !!
- ไม่ได้คิดล่วงหน้า ว่าชีวิตเรามีเป้าหมายอะไรบ้าง จึงอาจทำให้หลงลืมเป้าหมายสำคัญบางอย่างไป เช่น ไม่ได้วางแผนเกษียณ แล้วไปคิดได้ตอนที่กำลังจะเกษียณ
- ไม่ได้คิดล่วงหน้า ว่าเป้าหมายของเรา ต้องใช้เงินมากแค่ไหน อาจทำให้เข้าใจผิดไปว่า เรามีเงินเพียงพอ แต่เมื่อถึงเวลาพบว่า เงินที่มีไม่เพียงพอ
ซึ่งการที่ไม่ได้เตรียมการวางแผนไว้ล่วงหน้า อาจสร้างปัญหาได้มากกว่าที่เราคาดคิด
- ไม่ว่าจะเป็นการถูกสถานการณ์เฉพาะหน้า บังคับให้ตัดสินใจทั้งๆ ที่ไม่พร้อม
- เสียโอกาสในการเตรียมการล่วงหน้า ซึ่งควรได้ใช้ในการหาข้อมูลความรู้เตรียมไว้ หรือ ทำให้ละเลยเป้าหมายสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่ได้วางแผนซื้อรถไว้ล่วงหน้า ว่ารถราคาเท่าไรที่เราพอจะซื้อไหว ไม่ได้วางแผนเก็บเงินก้อนสำหรับดาวน์รถ และไม่รู้ว่าเรามีกระแสเงินสดเหลือพอจะผ่อนรถได้เดือนละเท่าไร
- ถ้าเราถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องซื้อรถ หรือ เราตัดสินใจซื้อรถที่ราคาสูงเกินกำลัง สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นว่า ต้องกู้เงินมาดาวน์ มีภาระผ่อนชำระรายเดือนเพิ่ม
- กู้เงินมาซื้อบ้าน แล้วเงินเหลือไม่พอจ่ายค่าตกแต่งบ้านก่อนย้ายเข้า หรือกระทั่งไม่พอจ่ายค่างวดบ้าน ทำให้ต้องลดคุณภาพชีวิตลง หรือต้องไปลดเงินที่เตรียมไว้เพื่อเป้าหมายอื่นๆ ไปจนถึงกรณีสุดโต่ง (แต่เกิดขึ้นจริงมาแล้ว) คือต้องกู้เงินมาผ่อนแต่ละงวดวนไปมาจนกลายเป็นปัญหาหนี้สินเรื้อรัง
- ถ้าเราไม่ได้วางแผนเกษียณ และคิดไปว่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินบำนาญที่ได้น่าจะเพียงพอใช้จ่าย เมื่อถึงเวลาที่เกษียณจริง อาจกลายเป็นว่ามีรายจ่ายที่ไม่ทันได้คิดวางแผนไว้ก่อนเกิดขึ้นมา เช่น ต้องซื้อรถคันใหม่ ต้องปรับปรุงบ้าน หรือ เจ็บป่วยแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทำให้เงินเกษียณที่ดูเผินๆ เหมือนจะเพียงพอ อาจไม่พอใช้อย่างที่คิดไว้คร่าวๆ
หรือแม้แต่คนที่รู้จักออมเงิน แต่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายใดๆ พอมีเหตุต้องใช้เงิน ก็ใช้ไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่ามีเงินพอ แต่พอถึงเรื่องที่เป็นเป้าหมายจำเป็น เงินกลับเหลือไม่พอจ่าย ต้องไปกู้ยืมคนอื่น
บทสรุป
เมื่อเห็นแล้วว่าการไม่ตั้งเป้าหมายทางการเงิน และไม่ได้เตรียมตัวสำหรับเป้าหมายสำคัญๆ ไว้ล่วงหน้า อาจสร้างปัญหาให้เราได้มากกว่าที่คิด ดังนั้นจึงขอชวนเพื่อน ๆ ให้มาตั้งเป้าหมายชีวิต เป้าหมายทางการเงิน ไปจนถึงวางแผนการเงินกันครับ
ส่วนถ้าใครรู้สึกว่า การตั้งเป้าหมายทางการเงินหลายๆ เป้าพร้อมกัน หรือ การวางแผนการเงิน ยังเป็นเรื่องยาก หรือไม่มีเวลา สามารถให้นักวางแผนการเงินมืออาชีพช่วยได้ โดยเข้าไปศึกษาบริการวางแผนการเงินแบบองค์รวมได้ที่ Link นี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ