
Survival Guide คู่มือเอาตัวรอด : สำหรับคนใกล้เกษียณแต่ยังไร้เงินออม
04/07/2025
เผยแพร่เมื่อ : 7 กรกฎาคม 2568
คู่มือนี้เขียนขึ้นเพื่อทุกท่าน ที่ต้องการ ลดรายจ่ายแบบเก็บทุกเม็ด ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานะใด ระหว่าง
- มีปัญหา : การเงินตึง รายรับไม่พอรายจ่าย ยิ่งใช้ชีวิตไปเงินเก็บยิ่งลด หนี้ยิ่งเพิ่ม
- แสวงหาโอกาส : ตอนนี้ออมได้น้อย อยากเก็บออมลงทุนได้เพิ่มขึ้น จะหารายได้เพิ่มก็ยังทำได้ไม่มากนัก
บทความนี้ขออาสาพาทุกท่านไป สำรวจทางเลือก ว่าท่านสามารถทำอะไรได้บ้างครับ
จุดเริ่มต้น : แรงใจสำคัญสุด
หัวใจสำคัญของการลดรายจ่ายได้สำเร็จ คือการมี แรงบันดาลใจ ที่ชัดเจน หรือมี Strong Why ว่าเราจะทำสิ่งนี้ไปทำไม
เพราะสิ่งที่จะทำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเสียสละ ต้องอดทนหลายอย่าง ดังนั้นถ้า "ต้องการไม่มากพอ" ก็อาจทำไม่สำเร็จ
ก่อนจะไปสำรวจว่าจะลดรายจ่ายอะไรได้บ้าง ถามตัวเองชัดๆ ครับว่า จะทำไปทำไม ?
- เพื่อออกจากปัญหาและความตึงเครียดทางการเงิน ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนี้เสียที ?
- เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับชีวิต ให้สามารถจับจ่าย หรือคว้าโอกาสอะไรกับเค้าได้บ้าง ไม่ใช่อยู่ในสภาวะขาดอยู่ตลอดแบบนี้ ?
- เพื่อกู้คืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ จากภาวะการเงินที่ย่ำแย่จนกดให้ชีวิตหม่นหมอง ?
- เพื่อทำฝันให้เป็นจริง เพราะถ้ามีเงินเหลือ ก็จะทำให้ตัวเองและครอบครัวมีความสุขขึ้น ?
ไม่ว่าจะเพื่อเหตุผลอะไร ถ้ามันสำคัญสำหรับเรา นั่นล่ะครับคือจุดเริ่มต้นที่ต้องตอกย้ำกับตัวเองให้ชัด
แก่นความคิด : การ "เลือก" ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด
การลดรายจ่ายไม่ได้หมายถึงการตัดทุกสิ่งทุกอย่างอย่างสุดโต่ง แต่เป็นการพยายาม Balance ระหว่างความสุขในชีวิตไปพร้อม ๆ กัน
เราต้องเรียนรู้ที่จะ "เลือก" ใช้จ่ายเพื่อให้อยู่รอดได้ดีพอสมควรในปัจจุบัน และ เพื่อให้สามารถเก็บออมสำหรับอนาคตได้
สิ่งสำคัญคือการแยกให้ออกว่าอะไรคือ Need (ความจำเป็นที่ขาดไม่ได้เลย) และอะไรคือ Want (ความต้องการที่ไม่ได้ก็ไม่ถึงกับตาย) เพราะถ้าเราแยกไม่ได้...
"โฆษณา และ การตลาด" จะพาเราไปเลือก Want อยู่เสมอ เพราะธุรกิจต่างๆ ก็อยากให้เราจ่ายเงินให้เค้ามากขึ้นนั่นเอง
เริ่มต้นลดรายจ่ายแบบ 360 องศา : มองหา "ทางเลือก" ในทุกการใช้จ่าย
มาดูกันว่าเราจะสามารถปรับลดรายจ่ายในหมวดไหนได้บ้าง บางหมวดอาจได้ผลเล็กน้อย แต่บางหมวดอาจมีผลกระทบที่ใหญ่หลวงต่อสถานะทางการเงินของเรา
ลองอ่านและคิดตามทีละข้อว่า เราทำข้อไหนได้บ้าง และ ข้อนั้นๆ ช่วยเราประหยัดได้กี่บาท ?
รายจ่ายที่อยู่อาศัยและค่าเดินทาง
รายจ่ายกลุ่มนี้ผูกพันอยู่ด้วยกัน และมักมีผลกระทบมากที่สุดต่อกระแสเงินสดของคนทั่วๆ ไป ลองพิจารณาทางเลือกต่อไปนี้
- ที่อยู่อาศัย
-
พิจารณาการเช่าบ้านก่อนซื้อ : การรีบซื้อบ้านเร็วเกินไป โดยเฉพาะช่วงที่รายได้ยังไม่มาก อาจนำมาซึ่งรายจ่ายประจำที่หนักหน่วง และเงินที่เก็บมาก่อนหน้าทั้งหมด ต้องไปจมอยู่ในเงินดาวน์และค่าตกแต่งบ้าน โดยที่ค่างวดปีแรกๆ นั้นลดหนี้บ้านได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด จึงไม่ต่างจากการเช่านัก
-
ข้อดีของการเช่า : ให้ความยืดหยุ่นและลดค่าใช้จ่ายได้มาก การเลือกที่พักอย่างชาญฉลาด ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะหรือที่ทำงาน ช่วยลดค่าเดินทางแฝง เช่น ค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง, ค่า Taxi, ค่าน้ำมัน, ค่าทางด่วน ฯลฯ (ขึ้นอยู่กับคุณเคยเดินทางแบบไหน ) นอกจากนั้นยังช่วยประหยัดเวลาเดินทาง ซึ่งสามารถนำไปใช้พัฒนาตนเอง หาความรู้เพิ่มเติม หรือกระทั่งใช้พักผ่อนได้มากขึ้น
-
สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านแล้ว และ กำลังลำบาก : หากค่างวดบ้านเป็นภาระหนัก การพิจารณาขายบ้านเพื่อปลดภาระหนี้ อาจเป็นการตัดสินใจที่รุนแรงแต่ช่วย พลิกกระแสเงินสดให้กลับมาเป็นบวก ได้ แม้จะไม่มีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว แต่คุณจะหายใจได้สะดวกขึ้นและมีโอกาสเริ่มต้นใหม่
-
ตัวอย่าง 1 เดิมซื้อบ้าน จ่ายค่างวดรวมค่าส่วนกลาง เดือนละ 20,000 บาท ขับรถเข้าเมืองเสียค่าน้ำมันรวมค่าทวงด่วน เดือนละ 7,000 บาท รวมเดือนละ 27,000 บาท การเงินตึงมากจึงตัดสินใจขายบ้าน เปลี่ยนมาเช่าคอนโดอายุเยอะแต่สภาพดีใกล้ที่ทำงาน คงเหลือค่าใช้จ่ายรวม เดือนละ 13,000 บาท ประหยัดได้เดือนละ 27,000 - 13,000 = 14,000 บาท ภายใน 1 ปีมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น 14,000 x 12 = 168,000 บาท
-
- การเดินทาง
-
ชะลอการซื้อรถ : การซื้อรถยนต์เร็วเกินไป แม้จะเป็นรถเล็ก ก็มีค่าใช้จ่ายมหาศาล ทั้งจากค่างวดรถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ค่าประกันภัย และที่หนักคือค่าใช้จ่ายด้าน Lifestyle ที่พอขับรถ ก็มักจะเดินทางมากขึ้น กินข้าวร้านอาหารหรือในห้างมากขึ้น
-
ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ : หากทำงานในเมือง การใช้รถไฟฟ้าหรือรถสาธารณะนั้นมีค่าใช้จ่ายเพียงหลักพันต่อเดือน เทียบกับการซื้อรถยนต์ที่อาจมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยหลักหมื่นต่อเดือน แม้อาจไม่สะดวกสบายเท่า แต่ถ้าตอนนี้การเงินตึง ความสบายอาจไม่ใช่ Priority หลัก แต่ควรเป็นความอยู่รอด และการไม่ต้องเครียดเรื่องเงินต่างหาก
-
เปลี่ยนรถใหญ่เป็นรถเล็ก : ถ้ายังไงก็ต้องขับรถ การลดขนาดรถยนต์จากรถใหญ่ที่ค่างวดอย่างน้อย 2X,XXX บาท มาเป็นรถเล็ก (หรือรถมือสองสภาพดี) ที่ค่างวดต่ำกว่า 1X,XXX บาทนั้น ช่วยให้ยังเดินทางได้ แต่การเงินคล่องตัวขึ้นมาก
-
ขึ้นทางด่วนเมื่อจำเป็น : หลายครั้งทางด่วนไม่ได้เร็วไปกว่าทางราบ ถ้าขึ้นแล้วต้องจ่าย 3-4 ด่าน คิดเป็นเงินต่อรอบไปกลับกว่า 200 บาทต่อวัน การวางแผนเวลา และยอมวิ่งทางราบบ้างเป็นบางวันก็อาจประหยัดได้เดือนละหลักพัน
-
ล้างรถเอง : เมื่อการเงินตึง ประหยัดอะไรได้ก็ควรทำ ล้างรถต่อครั้งคิดเป็นเงินหลักร้อยขึ้นไป ส่วนล้างเองนั้นเสียค่าน้ำไม่เกินหลักสิบแน่นอน
-
ตัวอย่าง 2 เดิมใช้รถ Toyota Camry ค่างวดเดือนละ 15,000 บาท ค่าน้ำมันเดือนละ 5,000 บาท รวม 20,000 บาท ต่อมาการเงินตึงมากจึงตัดสินใจขายรถ ได้เงินมาเป็นเงินดาวน์รถ EV ขนาดเล็ก ค่างวดลดเหลือเดือนละ 8,500 บาท ชาร์จไฟที่บ้านเดือนละ 1,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายใหม่เดือนละ 9,500 บาท คิดเป็นประหยัดได้ 20,000 - 9,500 = 10,500 บาท/เดือน หรือปีละ 10,500 x 12 = 126,000 บาท
- ตัวอย่าง 3 เดิมซื้อบ้านชานเมือง และซื้อรถขับเข้าเมืองไปทำงานทุกวัน ค่าใช้จ่ายรวมค่างวดบ้าน ค่างวดรถ และอื่นๆ รวมกันเดือนละ 40,000 บาท ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 6:00 และกลับถึงบ้านเกือบ 20:00 ทุกวัน ทั้งเพลียและไม่ไหวกับค่าใช้จ่าย จึงตัดสินใจขายทั้งบ้านและรถ แล้วเช่า Apartment ใกล้ที่ทำงาน ลดค่าใช้จ่ายรวมเหลือเพียงเดือนละ 15,000 บาท และเมื่อต้องใช้รถเป็นครั้งคราวก็เรียก Grab/Bolt หรือ เช่ารถรายวันแทน ทำให้ประหยัดเงินได้มาก และมีเวลาออกกำลังกาย ตื่นสายได้ สุขภาพจิตดีขึ้นมาก
-
รายจ่ายค่ากินอยู่และวิถีชีวิต
รายจ่ายกลุ่มนี้ต่อรายการอาจมีขนาดเล็ก แต่เมื่อสะสมหลายรายการก็ใหญ่ได้ การปรับลดจะมีผลต่อความสุขในการใช้ชีวิต จึงควรเลือกปรับให้พอดี อย่าให้ถึงกับต้องแห้งเหี่ยว
- อาหารการกิน
-
ซื้อกิน vs ทำกินเอง : ข้อนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ บางบ้านซื้อกินถูกกว่า บางบ้านทำกินถูกกว่า ลองวิเคราะห์คำนวณดูนะครับ อาจประหยัดเงินได้เดือนละหลักพันเพียงเพราะการตัดสินใจนี้
-
มื้อพิเศษนอกบ้าน : แม้การเงินจะตึง แต่การให้รางวัลกับความเหนื่อยยากด้วยการกินข้าวนอกบ้านก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่แนะนำให้เลือกอย่างจริงจัง เพราะงบประมาณสามารถบานได้เยอะ อาจเลือกทานนอกบ้านในเดือนที่มีรายได้พิเศษเข้ามา หรือเลือกทานบุฟเฟ่ต์ในแพ็คเก็จราคาที่ควบคุมงบประมาณได้แน่นอน ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลือกที่คุ้มค่าให้เลือกมากมาย
- สั่งอาหาร Delivery : บางกรณีอาจถูกกว่าการซื้อกินหน้าร้าน เพราะ App สั่งอาหารต่างๆ มีการทำ Promotion หรือมี Deal ที่ช่วยทำให้ประหยัดได้มากกว่าปกติ
- เลือกเวอร์ชั่นประหยัด : ของกินหลายชนิดมีหลายระดับราคา เช่น กาแฟสด หรือ Matcha มีตั้งแต่ระดับ Premium ราคาหลายร้อย ไปจนถึงแบบ Budget ราคาต่ำกว่า 50 บาท หากยังต้องการเติมพลังและความสดชื่นด้วยเครื่องดื่มเหล่านี้ แต่การเงินยังตึง เลือกแบบ Budget อาจช่วยประหยัดได้เดือนละหลายพันบาท เพราะต้องกิน/ดื่มทุกวัน
- ลดมื้ออาหาร : อาจฟังดูสุดโต่ง แต่ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งในยุคดี โดยเฉพาะสำหรับท่านที่ต้องการได้รับประโยชน์จากการทำ Intermittent Fasting (IF) ด้วย เพราะจะทำให้ทั้งประหยัดและได้สุขภาพดีมาเป็นของแถม
-
- ค่าบริการต่างๆ
-
แพ็คเก็จมือถือ : เลือกให้สอดคล้องกับการใช้งาน บางคนประหยัดเงินได้กว่าครึ่งพันต่อเดือน เพียงแค่เปลี่ยนโปรมือถือมาเป็นโปรที่เล็กลง แต่ยังเพียงพอ แล้วเลือกจ่ายเพิ่มเป็นครั้งคราวเมื่อจำเป็นต้องใช้มาก นอกจากนั้น ปัจจุบันมีผู้ให้บริการมือถือแบบ MNVO (Mobile Virtual Network Operator) ที่ให้บริการในราคาย่อมเยาว์ โดยยังใช้เครือข่ายจากค่ายใหญ่ๆ ให้เราได้เลือกใช้ เช่น GOMO by AIS, FINN Mobile เป็นต้น
-
แพ็คเก็จอินเตอร์เน็ต : เช่นเดียวกันกับมือถือ คืออินเตอร์เน็ตบ้านก็เลือกให้เหมาะกับการใช้งานได้ แม้ไม่เร็วที่สุด แต่แพ็คเก็จเริ่มต้น ก็อาจเพียงพอสำหรับใช้งานทั่วไปได้แล้ว และกรณีมีเพื่อนบ้านที่สนิทกัน ก็ยังสามารถที่จะหารค่าใช้จ่ายส่วนนี้กันได้ แทนที่จะต้องจ่ายเต็มแล้วใช้งานเพียงบางเวลา
- ค่าไฟ : ข้อนี้ประหยัดได้มาก-น้อย แตกต่างกันไปขึ้นกับพฤติกรรม แต่ส่วนใหญ่ประหยัดได้จากค่าแอร์ เช่น อาจเปิดใช้ช้าลง ปิดใช้เร็วขึ้น (ผ่านการตั้งเวลาล่วงหน้า) และใช้ร่วมกับพัดลม เพื่อกระจายแรงลม ทำให้เย็นได้เร็วขึ้น และเย็นค้างได้นานขึ้น เดือนหนึ่งๆ ก็อาจช่วยประหยัดได้หลายร้อย แม้อาจดูไม่มีความหมายมาก แต่สำหรับบางคนแล้ว แม้เล็กน้อยแต่ก็สำคัญ
- บริการ Subscription ต่างๆ : ทั้งส่วนที่เป็นความบันเทิง เช่น NetFlix, Disney+, Prime Video, Youtube Premium และส่วนที่เป็นการใช้งาน เช่น Microsoft Office, Canva, AI รายเดือน ต่างๆ เราสามารถเลือก Package ให้เหมาะกับการใช้งานได้ หารกันใช้กับคนอื่นได้ หรือ เลือกสมัครระยะสั้น เฉพาะเดือนที่มีอะไรที่น่าสนใจจะรับชมได้
-
- ซื้อของเข้าบ้าน
- ซื้อจากห้างขายส่ง : อาจต้องวางแผนบ้าง ซื้อไม่สะดวกเหมือนร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านบ้าง แต่ก็ช่วยประหยัดได้พอสมควร เห็นราคาบางอย่างเทียบกับร้านแถวบ้านแล้วอาจจะตกใจ ว่าทำไมมันถูกกว่ากันมาก
- รอวันดีลเด็ด : วันดีลเด็ดมีมาเรื่อยๆ เช่น 7.7, 11.11 วันเงินเดือนออก (Pay Day Deal) หรือวันอื่นๆ ขึ้นกับแต่ละ Platform ก็จะมีโปรโมชั่นต่างๆ มาช่วยให้ประหยัดขึ้นได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่วางแผนและอดทนรอได้ มีการทำการบ้านมาแล้วว่าราคาปกติเป็นเท่าไร ราคาที่เห็นนั้นลดลงมาจริงหรือไม่ (แต่ก็เป็นโทษเหมือนกันสำหรับคนที่ไม่วางแผน เพราะกลายเป็นการกระตุ้นให้ซื้อ โดยที่ไม่ได้ต้องการจริงๆ)
-
ใช้คูปองส่วนลด : ทั้งการซื้อที่หน้าร้าน หรือการซื้อออนไลน์นั้น ปัจจุบันมีคูปองส่วนลดมากมาย ที่เราอาจต้องเป็นสมาชิกก่อน หรือต้องทำการสั่งซื้อตามช่องทาง และกติกาที่กำหนด แม้จะยากขึ้นบ้าง แต่ก็ได้ราคาดีจริงๆ ถ้าการเงินตึงเราก็ต้องเค้นทุกเม็ดนะครับ
รายจ่ายภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หนี้สิน และ เบี้ยประกัน
รายจ่ายกลุ่มนี้ดูเผินๆ เหมือนจัดการอะไรไม่ได้ แต่ถ้ารู้วิธีก็สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากพอสมควร
- ภาษี
-
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : ภาษีรายเดือน ที่หักทันทีพร้อมเงินเดือน หากโดนหักเยอะไป จนเหลือเงินไว้ใช้จ่ายน้อย สามารถยื่นแบบ ล.ย. 01 เพื่อให้โดนหักน้อยลงได้ หรือบางคนอาจไม่โดนหักเลย ทำตามขั้นตอนใน Link นี้ได้เลยครับ
- ภาษีโดยรวม : ซึ่งต้องยื่นเสียภาษีรายปี ผ่านแบบ ภ.ง.ด. 90/91 นั้น อาจสามารถลดภาระภาษีได้ถ้าเรารู้จักใช้ค่าลดหย่อนให้ครบถ้วน ซึ่งบางทีเราอาจมียื่นตกหล่นไป หรือไม่รู้ว่าใช้สิทธิ์ได้ เช่น ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนพ่อแม่ ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต และเงินลงทุนในกองทุน RMF/TESG/TESGX ต่างๆ ซึ่งรายการเหล่านี้บางทีเราต้องเป็นผู้กรอกเอง เพื่อจะใช้สิทธิ์ลดหย่อน หากไม่กรอกก็เสียสิทธิ์ไปโดยปริยาย
-
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข.
-
ลดเงินสะสม : ก่อนอื่นขอแจ้งเตือนตัวโตๆ ว่า การลดเงินสะสมนั้น คือการลดเงินเกษียณในอนาคตของตัวเอง แต่ถ้าสถานการณ์ตอนนี้ตึงสุดๆ จริง การลดเงินสะสมเข้ากองทุนไปก่อนก็ช่วยให้การเงินคล่องตัวขึ้น โดยที่เราไม่ต้องลาออกจากกองทุน โดยตามกฎหมายนั้นสามารถลดเงินสะสมลงได้ต่ำสุดที่อัตรา 2% ของเงินเดือนสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ 3% สำหรับ กบข.
-
- หนี้สิน
-
ขอลดค่างวดขั้นต่ำ : หากค่างวดขั้นต่ำจากภาระหนี้สินต่างๆ สร้างภาระหนัก ทำให้คุณชักหน้าไม่ถึงหลัก การติดต่อสถาบันการเงิน/ธนาคาร เพื่อขอปรับลดค่างวดขั้นต่ำ ก็อาจช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ครับ ซึ่งถ้าติดต่อที่เดิมแล้วเขาไม่ทำให้ ก็อาจลองติดต่อ Refinance ไปยังสถาบันการเงินอื่น ทั้งนี้ต้องระวังเช่นกันว่า การจ่ายหนี้คืนน้อยลงนั้น หนี้ก็จะหมดช้าลงด้วย แต่ถ้าตอนนี้กระแสเงินสดเราไม่พอจริงๆ บางทีก็เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้เราผ่านสถานการณ์ช่วงนี้ไปได้ก่อน ไว้ถ้าอนาคตการเงินดีขึ้น หรือมีโบนัสและเงินพิเศษอื่นๆ เข้ามา จึงค่อยมาโปะหนี้ชดเชยก็ยังได้ครับ
- การเร่งปิดหนี้บางรายการ : หากพอมีเงินอยู่บ้าง แทนที่จะทยอยผ่อนชำระหนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าหนี้จะหมด การเลือกปิดหนี้บางรายการ เช่น รายการที่ยอดหนี้คงเหลือไม่เยอะ แต่ค่างวดสูง ก็จะช่วยให้ลดรายจ่ายรายเดือนได้มากครับ เช่น เดิมทีอาจต้องผ่อนรายการนี้เดือนละ 5,000 บาท แต่พอกัดฟันปิดหนี้ไปเลยทั้งก้อน ก็ไม่ต้องจ่าย 5,000 ทุกเดือนอีกต่อไปนั่นเอง
-
- เบี้ยประกัน
-
ปรับความถี่การจ่ายเบี้ย : เบี้ยประกันโดยทั่วไปนั้น มักมีกำหนดจ่ายเป็นรายปี ซึ่งพอถึงกำหนดทีไร หลายคนก็มักจะตึง คือต้องหาเงินมาจ่ายเบี้ยก้อนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วนั้น แบบประกันหลายๆ แบบสามารถขอปรับการจ่ายเบี้ยเปลี่ยนจากรายปี มาเป็นรายเดือนได้นะครับ หรือจะปรับจากรายเดือนไปจ่ายเป็นรายไตรมาส หรือ รายปี ก็ได้เช่นกัน ลองติดต่อกับตัวแทนประกันหรือบริษัทประกันที่ใช้บริการอยู่ดูนะครับ อาจช่วยเรื่องกระแสเงินสดได้พอสมควรเลยครับ
-
บทสรุป : ผลลัพธ์จากความมุ่งมั่นและวินัย
การลดรายจ่ายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่ความมั่งคั่ง แต่เป็นส่วนที่สำคัญและคุณสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง
เมื่อคุณ
- มีวินัยในการควบคุมรายจ่าย
- ผนวกกับการพัฒนาศักยภาพในการหารายได้ และ
- นำเงินไปลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
คุณจะพบว่าตัวเองสามารถบรรลุอิสรภาพทางการเงินได้เร็วกว่าที่ตั้งใจไว้มาก โดยสิ่งที่จะได้รับทันที คือ ความผ่อนคลายในการใช้ชีวิต จากการที่ไม่ต้องรู้สึกว่าสู้ยังไงก็ไม่ชนะ เพราะอยู่ในสภาวะที่รายจ่ายนำหน้ารายได้อยู่เสมอ
ไม่อยากให้มองว่าการลดรายจ่าย คือความพ่ายแพ้ เพราะจริงๆ แล้ว มันคือการถอยมาตั้งหลัก ถอยมาเตรียมความพร้อม เพื่อวันนี้และวันข้างหน้าที่ดีขึ้นต่างหาก เหมือนย่อตัวเพื่อกระโดดไปข้างหน้านั่นเอง
ชวนออกแบบชีวิตของคุณให้มีความสุข โดยการมองความสุขให้กว้างขึ้นและไกลขึ้น เพราะถ้าสุขวันนี้มากไป วันหน้าก็จะยาก ถ้าสุขวันหน้ามากไป ก็จะผ่านวันนี้ไปถึงวันหน้าลำบากเช่นกัน
หวังว่าการควบคุมและลดรายจ่ายนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคงของทุกคนนะครับ
และถ้าหากต้องการความช่วยเหลือด้าน การวางแผนการเงิน เรียกใช้พวกเรานักวางแผนการเงินจาก Avenger Planner ได้เสมอเลยครับ