
คนรักสัตว์จัดการเงินอย่างไร ? ให้เลี้ยงน้องได้และการเงินดีด้วย
24/06/2025
เผยแพร่เมื่อ : 4 กรกฎาคม 2568
หากคุณเป็นพนักงานเอกชนที่เหลือเวลาอีกราว 5 ปีจะเกษียณ โดยที่
- ไม่มีอสังหาริมทรัพย์
- ไม่มีคนที่จะเป็นที่พึ่งพิงได้
- มีเงินเก็บน้อยนิดหรือแทบไม่มีเลย
- บางคนอาจมีหนี้สินติดตัว ทั้งหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้ส่วนตัวอื่นๆ
สิ่งเหล่านี้คงเป็นความกังวลในใจของคุณใช่ไหมคะ ?
คุณไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์นี้เพียงคนเดียว หลายคนกำลังเผชิญกับความท้าทายนี้เช่นกันค่ะ
สิ่งสำคัญที่สุดคือการ ตั้งสติ และ ลงมือทำ อย่างจริงจังภายในเวลาที่ยังพอมี
บทความนี้จะขอแชร์แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นไปได้ เพื่อให้คุณสามารถสร้างความมั่นคงในบั้นปลายชีวิต แม้จะเริ่มต้นช้าและมีข้อจำกัดก็ตาม เรามาเริ่มไขปัญหากันเลยนะคะ
1. ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมา
ก่อนอื่นเราต้องรู้สถานะทางการเงินของตัวเองอย่างละเอียดทั้งรายรับ และรายจ่าย
1.1 วิเคราะห์รายรับรายจ่ายรายเดือนแบบละเอียด
ถ้าคุณยังไม่เคยจดบันทึกรายรับรายจ่ายมาก่อน ลองจดบันทึกทุกสิ่งที่คุณใช้จ่ายไปในแต่ละวันเป็นเวลา 1-2 เดือน ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่กาแฟแก้วโปรด ฯลฯ
สิ่งที่คุณจะค้นพบคือ ค่าใช้จ่ายที่พอปรับลดได้ ที่คุณอาจจะมองข้ามไป เช่น ค่ากาแฟวันละ 80 บาท กลายเป็นเดือนละ 2,400 บาท หรือ ค่าส่งอาหารเดลิเวอรี่เดือนละหลายร้อยบาท เงินเล็กน้อยเหล่านี้รวมกันแล้วอาจเป็นเงินก้อนใหญ่ที่คุณประหยัดได้
1.2 สำรวจหนี้สินที่มีอยู่
คุณมีหนี้อะไรบ้าง ? เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนี้อื่นๆ หนี้สินเหล่านี้เป็นภาระทางการเงินที่คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน ยิ่งดอกเบี้ยสูง ยิ่งต้องรีบจัดการ
ลิสต์รายการหนี้ทั้งหมด เขียนมันออกมาค่ะ ได้เวลาเผชิญหน้าความจริงแล้ว
1.3 ตรวจสอบทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์
แม้คุณจะคิดว่าไม่มีทรัพย์สิน แต่ต้องลองตรวจสอบดูก่อน เพราะอาจมีสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่คุณจะได้รับเมื่อเกษียณอายุ อยู่ เช่น
- เงินบำนาญประกันสังคม
- เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- หรือกระทั่ง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
อย่าละเลยเด็ดขาด! เพราะสวัสดิการเหล่านี้ แม้ไม่อาจมอบชีวิตที่สุขสบาย แต่ก็เป็นหลักประกันขั้นต้นให้พออยู่ได้
2. กลยุทธ์เร่งด่วนก่อนเกษียณ : 5 ปีทองแห่งการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส
เมื่อรู้สถานะด้านต่างๆ จากขั้นตอนที่ 1 แล้ว ก็ถึงเวลาลงมือทำอย่างจริงจัง ในเวลาที่ยังพอมีอยู่ เช่นอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็น “โอกาสทอง” ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก
2.1 มาตรการลดรายจ่ายขั้นสูงสุด
นี่คือช่วงเวลาที่คุณต้องลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ไม่จำเป็นลงอย่างเด็ดขาดค่ะ
ทำได้อย่างไร ? และควรทำในประเด็นไหนบ้าง ? ก็ให้พิจารณาจากข้อมูลการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เช่น
- ค่าอาหาร : ถ้าค่าอาหารการกินค่อนข้างสูง ลองดูว่าพอจะลดลงได้ไหม เช่น ทำอาหารทานเอง เลือกซื้อวัตถุดิบราคาถูก มีโปรโมชั่น หรือซื้อจากห้างค้าส่งช่วงลดราคาตอนใกล้ห้างปิด เน้นวัตถุดิบตามฤดูกาล และวางแผนเมนูอาหารล่วงหน้าให้ใช้วัตถุดิบร่วมกันได้
- การเดินทาง : เน้นใช้วิธีการที่ประหยัด เช่น ขนส่งสาธารณะ หรือ ลองหาวิธีการที่สร้างสรรค์แต่ทำได้ในเงื่อนไขของคุณเอง บางคนลองเดินหรือปั่นจักรยานในระยะทางใกล้ๆ ช่วยประหยัดเงินแถมได้ออกกำลังกายไปในตัว หรือ บางคนพิจารณาขายรถยนต์ส่วนตัว หากค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและค่าน้ำมันสูงกว่าการใช้ขนส่งสาธารณะ
- ค่าใช้จ่ายในบ้าน : ประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ให้มากที่สุด
- บันเทิงและไลฟ์สไตล์: ลดหรืองดกิจกรรมฟุ่มเฟือย เช่น การดูหนัง กินข้าวนอกบ้านบ่อยๆ หรือการซื้อของที่ไม่จำเป็น หันไปหาความบันเทิงที่ไม่เสียเงิน เช่น การอ่านหนังสือในห้องสมุด การเดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือการพบปะเพื่อนฝูงที่บ้านแทนการไปร้านอาหาร ถือคติที่ว่าไม่อายที่จะใช้ของเก่า และ ไม่ใช้จ่ายเกินความจำเป็น คิดให้ได้ว่าสิ่งที่กำลังจะซื้อเป็นเพราะความจำเป็น หรือ เป็นเพียงแค่ความอยากได้ ก็จะช่วยประหยัดเงินในส่วนนี้ค่อนข้างมาก
จำไว้ว่าทุกบาททุกสตางค์ที่คุณประหยัดได้ คือเงินที่เพิ่มขึ้นในเงินออมของคุณค่ะ และ ช่วงเวลานี้คือโค้งสุดท้ายแล้ว ดังนั้นต้องทำให้ได้
และควรจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายให้ต่อเนื่องนะคะ วินัยในส่วนนี้จะกลายเป็นอุปนิสัยที่ดี และทำให้มีข้อมูลมาวิเคราะห์ และตัดสินใจได้เป็นระยะ ว่าก่อน-หลังการปรับตัวนั้น การเงินเปลี่ยนไปอย่างไร ออมเพิ่มได้แค่ไหน
2.2 การสร้างรายได้เสริมในช่วง 5 ปีก่อนเกษียณ
แม้จะมีงานประจำอยู่แล้ว การหารายได้เสริมจะช่วยเพิ่มเงินเก็บได้มากในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเกษียณ และเช่นเคยค่ะ คุณอาจคิดว่ามันยาก แต่นี่ก็เป็นโค้งสุดท้ายแล้ว มันก็ต้องพยายามกันสักตั้งค่ะ
เริ่มได้จาก
- ใช้ทักษะที่คุณมี : คุณมีความสามารถอะไรบ้าง ? เช่น ถ้าคุณทำอาหารเก่ง อาจลองทำขนมง่ายๆ ขายเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนบ้าน หรือ งานมัคคุเทศก์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นต้น
- งานพาร์ทไทม์ : มองหางานที่ไม่ต้องใช้แรงมากนัก เช่น งานบริการลูกค้าในร้านสะดวกซื้อหรือร้านอาหารช่วงเย็น หรือการเป็นผู้ช่วยงานเอกสารในสำนักงานเล็กๆ ช่วงวันหยุด
- งานอิสระที่ทำคู่กับงานประจำได้ : บางคนตัดสินใจทำงานเป็นตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัย ทำธุรกิจขายตรงๆ ต่างๆ แบบที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก แต่เน้นการใช้เครือข่ายและสายสัมพันธ์ที่คุณมีอยู่เพื่อต่อยอด
ตัวอย่าง: คุณสมศรี วัย 58 ปี แม้จะมีงานประจำ แต่หลังจากเลิกงานและวันหยุด ก็จะรับจ้างทำอาหารกล่องง่ายๆ ขายให้กับพนักงานออฟฟิศใกล้บ้าน ทำให้มีรายได้เพิ่มเดือนละ 3,000 - 5,000 บาท ซึ่งช่วยให้เธอมีเงินเก็บฉุกเฉินได้บ้างก่อนเกษียณ
2.3 การจัดการหนี้สินอย่างจริงจัง
ถ้ายังมีหนี้สิน ให้รีบจัดการปิดหนี้ให้เร็วที่สุด เพราะหลังเกษียณถ้ายังต้องจ่ายหนี้อยู่ การเงินจะตึงมากๆ โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น หนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล
ถ้าหนี้รายการใด จ่ายขั้นต่ำไม่ไหว ยิ่งปล่อยไปดอกเบี้ยยิ่งเดิน (พร้อมๆ กับค่าปรับค่าทวงถามต่างๆ) ต้องติดต่อสถาบันการเงินเพื่อเจรจาขอผ่อนผันการชำระ เช่น ลดภาระดอกเบี้ยและลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งไม่ควรเข้าไปเจรจาด้วยมือเปล่า แต่ควรใช้ข้อมูลรายรับ-รายจ่ายที่เราได้จดบันทึกไว้ เพื่อแสดงให้สถาบันการเงินเห็นถึงความสามารถในการผ่อนชำระของเรา
หากการเจรจาสำเร็จ จะช่วยลดความตึงเครียดและเพิ่มกระแสเงินสดในมือเพื่อการออมและการลงทุน
โดยคุณสามารถใช้ตัวช่วยการจัดการหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย “โปรแกรมแก้หนี้ DIY” ได้ที่ https://app.bot.or.th/debtdiy/ หรือจะใช้บริการจากนักวางแผนการเงินเช่นพวกเรา Avenger Planner ก็ได้ค่ะ
2.4 การออมและการลงทุนแบบปลอดภัย
เมื่อจัดการรายรับ-รายจ่าย จนมีเงินเหลือเก็บออมได้มากขึ้นแล้ว ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้แนะนำให้เน้นการออมและการลงทุนแบบที่ปลอดภัยนะคะ โดยเฉพาะช่วงก่อนเกษียณอายุ 5 ปี และช่วงหลังเกษียณอายุนั้น หากลงทุนเสี่ยงๆ แล้วเงินลงทุนเสียหาย เราแก้ไขได้ยาก ดังนั้น Play Safe ไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
ซึ่งเครื่องมือเก็บออม/ลงทุน ที่พอจะเลือกใช้ได้นั้น เช่น
- บัญชีออมทรัพย์พิเศษ / ออมทรัพย์ดิจิทัล ดอกเบี้ยสูง
- บัญชีเงินฝากประจำ
- กองทุนรวมตลาดเงิน
- กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น
- กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง
ซึ่งทั้งหมดนั้นมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แต่ก็ยังพอได้ดอกผลอยู่บ้าง เมื่อถึงเวลาจะใช้ จะได้มั่นใจได้เต็มที่ ว่าเงินที่เร่งเก็บนั้นยังอยู่ ไม่ได้สูญเสียไปไหน
3. วางแผนชีวิตหลังเกษียณ
เมื่อถึงวัยเกษียณรายได้ประจำจะหายไป แต่ชีวิตต้องเดินต่อ ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่คุณต้องวางแผนค่ะ
3.1 ใช้ประโยชน์จากสิทธิและสวัสดิการภาครัฐอย่างเต็มที่
- เงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม นี่คือแหล่งรายได้หลักที่สำคัญที่สุด อย่าลืมตรวจสอบสิทธิและจำนวนเงินที่คุณจะได้รับจากสำนักงานประกันสังคม (โทร. 1506 หรือผ่าน Application ชื่อ SSO+) เพื่อให้คุณรู้ว่าจะมีเงินรายเดือนเท่าไร ขอรับอย่างไร และจะได้รับเดือนแรกเมื่อไร ข้อมูลนี้จะช่วยให้คุณบริหารจัดการเงินหลังเกษียณอายุได้ดียิ่งขึ้น
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อคุณอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ คุณจะได้รับเบี้ยยังชีพจากภาครัฐ อย่าลืมไปลงทะเบียนเพื่อรับสิทธินี้ สามารถติดต่อไปที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่เป็นภูมิลำเนาได้ โดยสามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพล่วงหน้าได้ตั้งแต่อายุครบ 59 ปีบริบูรณ์
- สิทธิการรักษาพยาบาล : หากเกษียณแล้วและต้องการรับบำนาญจากประกันสังคม คุณจะเสียสิทธิ์การรักษาสุขภาพของประกันสังคมไป และได้รับสิทธิ์บัตรทอง (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) มาทดแทน จึงควรตรวจสอบสถานพยาบาลปฐมภูมิและทุติยภูมิของคุณ ด้วยการโทร 1330 หรือเช็คที่ Link นี้ หากสถานพยาบาลตามสิทธิอยู่ไกล ก็ควรแจ้งเปลี่ยนมาเป็นสถานพยาบาลใกล้ที่พักได้จะดีมาก ทั้งนี้เพื่อความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
3.2 การทำงานต่อหลังเกษียณ (Part-time Work)
หากสุขภาพยังแข็งแรงและคุณมีความสามารถ การทำงานพาร์ทไทม์หลังเกษียณเป็นทางเลือกที่ดีมากค่ะ
- ประโยชน์ : นอกจากจะได้รายได้เพิ่มแล้ว ยังได้พบปะผู้คน มีสังคม ไม่รู้สึกเหงา และรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง
- ประเภทงานที่เหมาะสม : ควรเป็นงานที่ไม่ต้องใช้แรงมากนัก เช่น งานธุรการ พนักงานบริการในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่งานที่ใช้ทักษะที่คุณมี เช่น สอนภาษา หรือรับดูแลสัตว์เลี้ยง
- คำแนะนำ : ควรเริ่มมองหาและติดต่อช่องทางงานพาร์ทไทม์ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ งานที่เหมาะกับคนวัยเกษียณมีอยู่มากมาย ขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถเดิมที่คุณมี และ ความมุ่งมั่นของคุณด้วยที่จะออกจาก Comfort Zone ไปลองทำอะไรใหม่ๆ
3.3 ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและประหยัด
ที่อยู่อาศัยเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด ถ้าคุณไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง และต้องเช่าอยู่ คุณต้องวางแผนหาที่อยู่อาศัยที่ประหยัด เช่น ห้องเช่าขนาดเล็ก หรือ ถ้าคุณมีเพื่อนสนิทในวัยเดียวกัน ก็อาจแชร์ห้องหรือเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้
หรือหากจำเป็น อาจลองศึกษาข้อมูลบ้านพักผู้สูงอายุของรัฐบาล หรือขององค์กรการกุศล ซึ่งมักจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก หรือบางแห่งอาจไม่มีค่าใช้จ่ายเลย แต่ต้องศึกษาเงื่อนไขและติดต่อล่วงหน้า เนื่องจากมีจำนวนจำกัด อาทิ
- สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค กรุงเทพมหานคร
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ (เชียงใหม่) จังหวัดเชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
- สถานสงเคราะห์คนชราเฉลิมราชกุมารี (หลวงพ่อเปิ่นอุปถัมภ์) จังหวัดนครปฐม
- บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น
3.4 การดูแลสุขภาพกายและใจ
สุขภาพที่ดีคือ “ทรัพย์สินที่ประเมินค่ามิได้” ยิ่งอายุมาก ยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
- ดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด : เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเบาๆ (ตามความเหมาะสม) พักผ่อนให้เพียงพอ และ ไปพบแพทย์ตามนัด สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย และลดภาระค่ารักษาพยาบาลในอนาคต หากสามารถทำอาหารทานเองได้ ก็ช่วยให้เราควบคุมการใช้เครื่องปรุงต่าง ๆ ได้ดี นอกจากจะประหยัด ยังช่วยให้สุขภาพกายดีขึ้นด้วย
- ดูแลสุขภาพใจ : มองหากิจกรรมที่ชอบทำ เข้าร่วมชมรมผู้สูงอายุ หรือพบปะเพื่อนฝูง เพื่อไม่ให้รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว ลองปลูกผักสวนครัว อาจเป็นสวนแนวตั้ง หรือปลูกในกระถาง นอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพใจแล้ว ยังทำให้เรามีวัตถุดิบที่สะอาดปลอดภัยและประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย
3.5 การแสดงเจตจำนงสุดท้าย
ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำด้วยตนเอง เพื่อแสดงความต้องการสุดท้ายของชีวิตตามสิทธิ์ทางกฎหมาย ทั้งการจัดทำ พินัยกรรม และ การแสดงเจตนา (Living Will) ซึ่งเป็นการแจ้งความประสงค์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลล่วงหน้า รวมถึงความประสงค์เกี่ยวกับการจัดการงานศพด้วย เพื่อให้คนข้างหลังไม่ต้องลำบากในการตัดสินใจจัดการสิ่งต่างๆ แทนเรา
ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองข้ามเรื่องนี้ แต่ถ้าได้ทำไว้จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้มาก ที่สำคัญต้องเตรียมการจัดทำตั้งแต่ยังคงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ โดยอาจเริ่มต้นศึกษาแนวทางได้จาก สมุดเบาใจ
4. “ลงมือทำ” และ “ไม่ยอมแพ้”
สถานการณ์ของคุณอาจฟังดูยากลำบาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ทัศนคติ” และ “การลงมือทำ”
ลองเริ่มที่การตั้งเป้าหมายเล็กๆ เมื่อทำได้สำเร็จแล้ว ให้ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างกำลังใจและทัศนคติเชิงบวก พร้อมสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำได้
- ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน : เริ่มต้นจากเป้าหมายเล็กๆ ที่ทำได้จริง เช่น เดือนนี้จะประหยัดให้ได้ 500 บาท หรือจะหารายได้เสริมให้ได้ 2,000 บาท การทำได้ตามเป้าหมายเล็กๆ จะสร้างกำลังใจให้คุณเดินหน้าต่อไป
- วินัยในการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง : การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต้องใช้เวลาและความพยายาม ทำอย่างสม่ำเสมอ แล้วคุณจะเห็นผลลัพธ์ มากบ้างน้อยบ้าง แต่ดีกว่าไม่ทำแน่นอน
- ทัศนคติเชิงบวก: ยอมรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่แต่ไม่ท้อถอย มองหาโอกาสและทางออกเสมอ ให้กำลังใจตัวเองมากๆ จะได้ไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย หรือหมดกำลังใจไปก่อน
- สร้างเครือข่ายสังคม : การเข้าร่วมสังคมที่ช่วยสนับสนุนเรา คิดและเชื่อแบบเดียวกันกับเรา นอกจากจะช่วยให้คุณมีสังคมที่ดีแล้ว ยังอาจได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสวัสดิการ การใช้ชีวิต หรือโอกาสในการทำงานหลังเกษียณด้วย
อย่างไรก็ตาม หากพยายามเต็มที่แล้ว ท้ายที่สุดยังคงตกอยู่ในสภาวะผู้สูงอายุที่มีภาวะยากลำบากและไร้ที่พึ่งพิง ก็จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยคุณสามารถติดต่อ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้
บทสรุป : แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
แม้เวลาการทำงาน หาเงิน เก็บออมเงิน มีอยู่ไม่มากแล้ว แต่อย่าเพิ่งหมดหวังนะคะ หลายคนฮึบสู้ในช่วงนี้ ก็พลิกชีวิตให้พร้อมรับวัยเกษียณได้จริงๆ
ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่เกินไปกว่า การเริ่มต้นลงมือทำอย่างจริงจังในวันนี้
- ทั้งการประหยัดอย่างสูงสุด
- การหารายได้เสริมอย่างสร้างสรรค์
- การใช้ประโยชน์จากสิทธิภาครัฐให้เต็มที่
- การวางแผนชีวิตอย่างรอบคอบ และโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญจริงๆ
ทั้งหมดจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถสร้างความมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณได้
แต่ถ้าคุณไม่มั่นใจว่าจะบริหารทุกอย่างได้เหมาะสมหรือไม่ ก็เชิญชวนให้หาที่ปรึกษามาช่วยคิด วิเคราะห์ ให้มองเห็นภาพที่ชัดเจน และสามารถดูแลต่อเนื่องในระยะยาวได้นะคะ เพราะเรื่องการเงินจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตเลยค่ะ
ซึ่งพวกเรา Avenger Planner ยินดีอย่างยิ่ง หากจะได้รับโอกาสจากทุกท่านในการใช้บริการนะคะ สามารถศึกษารายละเอียดบริการของพวกเราได้ที่ Link นี้ค่ะ