
คู่มือ : ควบคุมและลดรายจ่าย (ฉบับเก็บทุกรายละเอียด)
08/07/2025
เผยแพร่เมื่อ : 12 กรกฎาคม 2568
Charlie Munger คู่หูคนสำคัญของ Warren Buffett นักลงทุนระดับสุดยอดของโลก เคยกล่าวไว้ว่า "I wanna know where I’m going to die, so I’m not going to go there." หรือ "ผมอยากรู้ว่าจะตายที่ไหน เพื่อที่ผมจะได้ไม่ไปที่นั่น"
คำกล่าวนี้เป็นสัจธรรมที่นำมาปรับใช้ได้กับทุกช่วงชีวิต รวมถึง "การวางแผนการเงินหลังเกษียณ" ครับ
บทความนี้จะชวนทุกท่านมาสำรวจ "จุดอันตรายที่ควรหลีกเลี่ยง" เพื่อให้ชีวิตในวัยเกษียณของทุกท่าน เป็นไปอย่างราบรื่นและมั่นคงที่สุดครับ
ประเด็นสำคัญที่มักถูกมองข้ามและควรระวัง
การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณไม่ใช่แค่การมีเงินก้อนใหญ่ แต่คือการบริหารจัดการเงินก้อนนั้นให้เพียงพอและยั่งยืนตลอดช่วงชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งมักมีกับดักทางการเงินที่มองไม่เห็นซ่อนอยู่ มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ต้องระวังครับ
1. ประเมินค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่ำเกินไป
ข้อผิดพลาดแรกที่พบบ่อยคือการประมาณการค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งทำให้เงินที่เตรียมไว้หมดเร็วกว่าที่คาดไว้มาก ซึ่งเกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่น
- ไม่ทำงบประมาณอย่างละเอียด : ที่เห็นได้บ่อยคือการใช้ตัวเลขกลมๆ ค่าใดค่าหนึ่ง เช่น เดือนละ 20,000 บาท มาวางแผนเป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยที่ไม่ได้มีการประเมินในรายละเอียดปลีกย่อย แยกออกมาเป็นหมวดหมู่ ทีละรายการ ผลคือเลขกลมๆ ดังกล่าวบางทีก็ต่ำไปมากจนทำให้ประมาทเตรียมเงินไว้ไม่พอ หรือ บางทีก็สูงไปมากจนเกิดเป็นความกังวลโดยใช่เหตุ ว่าจะเตรียมเงินไว้ไม่เพียงพอ
- ละเลยเงินเฟ้อ : ผู้ที่วางแผนเกษียณจำนวนมากไม่ได้นำปัจจัย "เงินเฟ้อ" มาวางแผน ซึ่งในสถานการณ์จริงที่มีเงินเฟ้อนั้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ค่าใช้จ่ายนี้อาจเพิ่มขึ้นไปสูงเป็นกว่าเท่าตัว เช่น เพิ่มจาก 20,000 บาท/เดือน เป็น 40,000 บาท/เดือน จนรับมือได้ยากและต้องยอมลดคุณภาพชีวิตลงอย่างมาก เพื่อให้เหลือเงินพอใช้
2. มองข้าม "ค่าใช้จ่ายพิเศษ"
ค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้มักเป็นก้อนใหญ่และไม่ได้เกิดขึ้นประจำ จึงมักถูกมองข้ามในการวางแผน แต่หากละเลย อาจทำให้แผนการเงินผิดพลาดได้อย่างร้ายแรง เช่น
- ค่ารักษาพยาบาล : นี่คือความเสี่ยงที่สำคัญมาก เนื่องจากอัตรา เงินเฟ้อทางการแพทย์ นั้นสูงกว่าเงินเฟ้อทั่วไปมาก โดยอาจสูงถึง 7-9% ต่อปี ทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณได้ในเวลาเพียง 10 ปี เช่น ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาทในวันนี้ อาจกลายเป็น 200,000 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้า และอาจกลายเป็น 400,000 บาท ในอีก 10 ปีถัดไป!
- เบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ : หลายท่านทำประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายไว้ แต่ก็ลืมคำถึงถึงว่า เบี้ยประกันสุขภาพส่วนใหญ่นั้น จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลังเกษียณ โดยเฉพาะกลุ่มโรคร้ายแรง ซึ่งหากไม่ได้วางแผนเตรียมเงินสำหรับจ่ายเบี้ยประกันส่วนนี้ไว้ ก็อาจต้องปล่อยให้ประกันขาดความคุ้มครองไป และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง
- ค่าซ่อมแซมบ้านและรถ : การซ่อมแซมบ้านครั้งใหญ่ เช่น หลังคาบ้านที่ปลวกขึ้น การ Renovate ให้เหมาะสำหรับชีวิตในวัยเกษียณ และ/หรือ การเปลี่ยนรถใหม่สัก 1-2 คันหลังเกษียณ ล้วนต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า หรือแม้จะเตรียมไว้ แต่หากใช้ไปมากเกินควร ก็เป็นอันตรายได้
- การท่องเที่ยวและสันทนาการ : เมื่อมีเวลาว่างมากขึ้น หลายคนเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมสันทนาการบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจมีปัญหา ถ้าประเมินไว้ต่ำไป และถ้าต้องลดหรือตัด ก็อาจเป็นส่วนที่กระทบความสุขให้ในวัยเกษียณได้มาก
- การอุปถัมภ์บุตรหลาน : บางครั้งแม้จะเกษียณแล้ว แต่บุตรหลานอาจยังไม่จบการศึกษาหรือต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินอื่นๆ (ทั้งที่จำเป็นจริงๆ และ ทั้งที่คุณอยากที่จะให้เพื่อเป็นของขวัญ และความสุขทางใจ) ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ อาจเป็นภาระที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ เมื่อจ่ายออกไปแล้วก็ทำให้การเงินตึง
การละเลยค่าใช้จ่ายพิเศษเหล่านี้ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน หรือตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ของการเกษียณอายุ ในเวลาต่อไปจะนำไปสู่การ "มีเงินแต่ไม่กล้าใช้" เพราะกังวลว่าเงินจะหมด หรือไม่เพียงพอ ทำให้ชีวิตหลังเกษียณเต็มไปด้วยความวิตกกังวล แทนที่จะเป็นความผ่อนคลาย
3. บริหารจัดการเงินทุนเกษียณไม่เหมาะสม
เงินเก็บหลังเกษียณ คือผลลัพธ์ของการทำงานและวางแผนมาทั้งชีวิต การบริหารจัดการอย่างผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบมหาศาล อาทิ
- ไม่ปรับแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เมื่อใกล้เกษียณ : หากผู้ที่ใกล้เกษียณยังคงลงทุนในแผนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น แผนหุ้นล้วน การผันผวนของตลาดในช่วงใกล้เกษียณอาจทำให้เงินก้อนสำคัญนี้ลดลงอย่างมาก และอาจไม่สามารถรอให้ตลาดฟื้นตัวจนมูลค่ากลับมาได้เหมือนสมัยที่ยังทำงานอยู่
- ไม่เข้าใจสวัสดิการภาครัฐ : หลายคนไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์ต่างๆ ที่พึงได้รับ เช่น บำนาญจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และสิทธิ์ด้านการรักษาสุขภาพหลังเกษียณต่างๆ ซึ่งหลายๆ สิทธิ์นั้นจำเป็นต้องไปทำเรื่องขอรับผลประโยชน์ด้วย เมื่อไม่ทราบจึงอาจตกหล่นในสิทธิ์ที่ควรได้ไป
- ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงทั้งหมด : การนำเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตไปลงทุนในหุ้นล้วน หรือสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงมาก เช่น คริปโตเคอร์เรนซี โดยไม่มีการกระจายความเสี่ยง อาจนำไปสู่การขาดทุนมหาศาล ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะรับได้ และแม้ในบางกรณีหากรอได้มูลค่าของสินทรัพย์เหล่านั้นสามารถฟื้นกลับมาได้ แต่ด้วยการที่เป็นแหล่งเงินทุนเดียวหลังเกษียณ เจ้าของเงินก็อาจเคร่งเครียดจนเสียสุขภาพจิต และทนรอไม่ไหวไปเสียก่อน
- การกระจุกตัวในการลงทุน : การลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป เช่น หุ้นกู้เพียงไม่กี่ฉบับ เพิ่มความเสี่ยงอย่างมาก หากเกิดปัญหากับสินทรัพย์นั้นๆ กรณีเลวร้ายที่สุด อาจทำให้เงินเก็บหายไปได้ในพริบตา
- ความเสี่ยงจากลำดับผลตอบแทน (Sequence of Returns Risk) : นี่คือความเสี่ยงที่หลายคนมองข้าม หากตลาดการลงทุนเกิดวิกฤตและให้ผลตอบแทนติดลบอย่างรุนแรงในช่วงต้นของการเกษียณอายุ เงินต้นจะลดลงอย่างมาก และแม้ในภายหลังอาจฟื้นตัวได้ แต่ระหว่างนั้นพอร์ตก็จะถูกถอนเงินออกมาใช้เรื่อยๆ ทำให้มูลค่าพอร์ตถดถอยไปมาก จนอาจไม่เพียงพอใช้จนตลอดอายุเกษียณ
- ผลกระทบทางจิตวิทยาจากการรับความผันผวนไม่ไหว : ความผันผวนของพอร์ต อาจนำมาซึ่งความเครียดและความวิตกกังวลอย่างรุนแรงในวัยเกษียณ ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เช่น ขายสินทรัพย์ทั้งหมดในช่วงที่ราคาตกต่ำที่สุด จนกลายเป็นขาดทุนอย่างถาวร โดยเฉพาะสำหรับท่านที่มีประสบการณ์การลงทุนน้อย หรือเพิ่งมาเริ่มลงทุนตอนหลังเกษียณ
4. ความเสี่ยงจากมิจฉาชีพ
นี่คือความเสี่ยงที่อาจทำให้เงินเก็บทั้งชีวิตหายไปได้ทั้งหมดในพริบตาเดียว! ซึ่งมิจฉาชีพมักใช้ :
- ความโลภ เช่น เสนอผลตอบแทนสูงเกินจริงในเวลาอันสั้น หรือ
- ความกลัว เช่น การข่มขู่ในเรืองต่างๆ มาหลอกลวง
ซึ่งมักพุ่งเป้าไปที่ผู้สูงอายุที่มีเงินก้อนและอาจไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือกลโกงที่ซับซ้อน
5. ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อการเงิน
ลำพังค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นก็เป็นความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณมีสุขภาพที่แย่ลงด้วย ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการดูแลตัวเอง หรือจัดการการเงินของคุณได้ด้วยตนเอง ทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายแฝงตามมา เช่น
- ค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะยาว : หากต้องพึ่งพิงการดูแลจากพยาบาล หรือผู้ช่วยในบ้าน หรือต้องเข้าสถานดูแลผู้สูงอายุ อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงและต่อเนื่อง
- การจัดการทรัพย์สิน : หากสุขภาพถดถอยและไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการเงินได้เอง อาจต้องมอบอำนาจให้ผู้อื่นจัดการ ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องการจัดการที่โปร่งใส และเป็นไปตามความต้องการของคุณหรือไม่ ?
6. ขาดกิจกรรมและสังคมหลังเกษียณ
แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องการเงินโดยตรง แต่เรียกว่าเป็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต ที่แม้มีเงินก็อาจใช้แก้ปัญหาได้ไม่ทั้งหมด
เพราะการไม่มีกิจกรรมที่ทำหลังเกษียณ ทำให้หงอยเหงา เซื่องซึม ไม่มีชีวิตชีวา และรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ
ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หรือทำให้การตัดสินใจทางการเงินแย่ลงได้ เรียกว่า มีเงินแต่ไม่มีความสุข หรือ อาจรุนแรงถึงขั้น ไม่มีเงินและไม่มีความสุข ไปพร้อมๆ กัน
บทสรุป : วางแผนเพื่อเลี่ยง "จุดอันตราย" ตั้งแต่วันนี้
การเกษียณอายุควรเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและความสงบ แต่ข้อผิดพลาดทางการเงินที่กล่าวมาข้างต้นอาจทำให้ความฝันนั้นพังทลายลงได้ ซึ่งการรู้ว่าอะไรคือ "ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยง" จะช่วยกระตุ้นเตือนให้คุณเพิ่มความระมัดระวัง ไม่พลาดกับเรื่องเหล่านั้นได้ง่ายๆ
ซึ่งการวางแผนอย่างรอบคอบ ตั้งแต่...
- การประเมินค่าใช้จ่ายอย่างละเอียด
- การเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายไม่พิเศษ
- การบริหารจัดการเงินลงทุนอย่างเหมาะสม
- การระมัดระวังภัยจากมิจฉาชีพ
- ไปจนถึงการดูแลสุขภาพและมีกิจกรรมทางสังคม
จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คุณมีเงินพอใช้ มีสุขภาพที่ดี และมีชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุขอย่างแท้จริง
และหากคุณยังไม่แน่ใจว่าจะวางแผนทั้งหมดนี้ได้อย่างไร ก็สามารถเรียกใช้บริการจากพวกเรา นักวางแผนการเงิน บลป. Avenger Planner ได้นะครับ พวกเราพร้อมที่จะเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้ช่วยนำทางให้คุณได้ใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ
สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบริการของพวกเราได้ที่ Link นี้ครับ