DCA และ Asset Allocation ใช้ร่วมกันอย่างไร ให้เงินเติบโตในระยะยาว
19/05/2023วิธีประเมินมูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ วันเกษียณ (พร้อมไฟล์ Excel ช่วยคำนวณ)
29/05/2023“เป้าหมายเกษียณ” คือเป้าหมายทางการเงินที่สำคัญ เป็นเป้าหมายระยะยาวที่ต้องใช้เวลาเก็บเงินออมและลงทุนอย่างมีวินัยหลายสิบปี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้
เป้าหมายยิ่งยาก ยิ่งจำเป็นต้องมีเครื่องมือ ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยทุ่นแรง และช่วยเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ
ซึ่งสำหรับเป้าเกษียณอายุนั้น กองทุน RMF ถือเป็นหนึ่งเครื่องมือที่มีพลังยิ่งใหญ่ อย่างน้อยๆ 3 อย่าง ที่ทุกๆ คนไม่ควรพลาด
RMF คืออะไร ?
กองทุนรวม RMF ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund หรือชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการคือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นประเภทกองทุนที่มีวัตถุประสงค์สำหรับการออมระยะยาว เพื่อสร้างหลักประกันไว้สำหรับการเกษียณอายุ โดยมีเงื่อนไขหลักๆ ดังนี้
- เมื่อเริ่มต้นลงทุนแล้ว ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง
- หยุดการซื้อหน่วยลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปี (ยกเว้นปีที่ไม่มีเงินได้สามารถยกเว้นได้เช่นกัน)
- สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้อย่างถูกเงื่อนไขภาษี ก็ต่อเมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
หากสามารถทำตามเงื่อนไขทั้งหมดได้ ก็จะทำให้ได้ประโยชน์ครบถ้วน เป็น 3 พลังที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ
- ตอนซื้อ : นำค่าซื้อไปลดหย่อนภาษีได้
- ระหว่างที่ถือลงทุน : ได้รับผลตอบแทน จากสินทรัพย์ที่เลือกได้หลากหลาย และยืดหยุ่นสูง
- ตอนขาย : มั่นใจได้ว่าเงินอยู่ครบจนวันเกษียณ และตอนขายไม่เสียภาษีจากกำไรใดๆ
เรามาขยายความพลังทั้ง 3 นี้กันครับ
พลังที่ 1 : นำค่าซื้อไปลดหย่อนภาษีได้
หลักการคำนวณภาษีทั่วไปนั้น คำนวณโดยใช้สูตร
เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
จากนั้นจึงนำเงินได้สุทธิ ไปเปิดตารางอัตราภาษี เพื่อใช้คำนวณว่าจะต้องเสียภาษีเท่าใด โดยจากสูตรจะเห็นว่า ยิ่งมีค่าลดหย่อนมาก ก็จะยิ่งทำให้เงินได้สุทธิลดลง ส่งผลให้เสียภาษีน้อยลงด้วย
ซึ่งกรณีที่เราซื้อกองทุน RMF ยอดเงินที่ซื้อในแต่ละปี ก็จะนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนในสูตรนั่นเองครับ
โดยเงินลงทุนใน RMF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเงินนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ซึ่งผมทำตารางสรุปมาให้ดูคร่าวๆ ครับ ว่า ถ้าเราซื้อ RMF เป็นจำนวนเท่ากับ 10% ของเงินได้ โดยที่ไม่ได้มีค่าลดหย่อนอย่างอื่น เราจะสามารถลดภาษีลงได้เท่าใด
จากตารางจะเห็นว่า
- ถ้าเราเงินเดือน 50,000 บาท หากไม่ซื้อ RMF เพื่อลดหย่อนภาษี เราจะเสียภาษีปีละ 21,500 บาท แต่ถ้าซื้อ RMF 10% ของเงินได้ ภาษีจะลดลงเหลือ 15,500 บาท ประหยัดไปได้ถึง 6,000 บาท
- ถ้าเราเงินเดือน 100,000 บาท หากไม่ซื้อ RMF เพื่อลดหย่อนภาษี เราจะเสียภาษีปีละ 125,000 บาท แต่ถ้าซื้อ RMF 10% ของเงินได้ ภาษีจะลดลงเหลือ 99,000 บาท ประหยัดไปได้ถึง 26,000 บาท
- ถ้าเราเงินเดือน 200,000 บาท หากไม่ซื้อ RMF เพื่อลดหย่อนภาษี เราจะเสียภาษีปีละ 437,000 บาท แต่ถ้าซื้อ RMF 10% ของเงินได้ ภาษีจะลดลงเหลือ 365,000 บาท ประหยัดไปได้ถึง 72,000 บาท
ภาษีที่ประหยัดได้นี้ มาเป็นพลังให้กับเราได้อย่างไร ?
คำตอบจะแล้วแต่แง่มุมที่แต่ละท่านใช้ประโยชน์จากเงินก้อนนี้เลยครับ
- บางท่านใช้ค่าลดหย่อนนี้เป็นรางวัลชีวิต เช่น ในเมื่อเก็บออมเกษียณซึ่งเหมือนเป็นงานใหญ่แล้ว การได้เงินประหยัดภาษีคืนกลับมา ก็นำมาใช้เป็นงบบันเทิง งบท่องเที่ยว ซื้อ Gadgets หรือ Shopping อื่นๆ
- บางท่านใช้ค่าลดหย่อนนี้ นำไปเก็บออมเพื่อเป้าหมายอื่น เช่น เงินเก็บเอนกประสงค์ ใช้สำหรับเป้าหมายที่ยังไม่รู้แน่ชัด แต่ก็อยากเก็บเตรียมไว้ก่อน เช่น อาจต้องซ่อมแซมรถ ซ่อมแซมบ้าน หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
- บางท่านใช้ค่าลดหย่อนนี้ ทวีพลังของการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก ด้วยการนำเงินที่ได้คืนภาษีมา เติมเข้าไปในพอร์ตเกษียณอีกรอบ ทำให้พอร์ตยิ่งโตเร็วขึ้น
ความยิ่งใหญ่ของพลังนี้ หากวัดปีเดียวคงไม่มาก แต่หากเราซื้อ RMF เพื่อเป้าเกษียณเช่นนี้ ซ้ำอีกในปีถัดๆ ไป และทำต่อเนื่องไปเป็น 10 20 หรือกระทั่ง 30 ปี ลำพังค่าลดหย่อนที่ได้กลับมาก็อาจมีค่าหลายแสนจนถึงหลักล้านบาทได้เลยทีเดียวครับ
พลังที่ 2 : บริหารพอร์ตได้ยืดหยุ่น สร้างผลตอบแทนได้จากหลายสินทรัพย์
เมื่อลงทุนใน RMF และได้สิทธิลดหย่อนภาษีในขั้นตอนของการซื้อไปแล้ว
เงินที่ลงทุนใน RMF ยังสามารถทำงาน สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้กับเราได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งผลตอบแทนส่วนนี้จะเกิดจาก “สินทรัพย์” หรือ “หลักทรัพย์” ที่กองทุน RMF แต่ละกองนำเงินของเราไปลงทุน ผ่านการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุน
ซึ่งข้อดีมากๆ ของ RMF (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุน SSF ซึ่งออกมาทีหลัง) คือ การมีตัวเลือกของกองทุน และสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้ให้เลือกมากมาย ไล่ตั้งแต่สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงเสี่ยงสูง เช่น
- ตราสารตลาดเงิน (Money Market)
- ตราสารหนี้ (Fixed Income)
- ตราสารทุน หรือ หุ้น (Equity)
โดยมีทั้งสินทรัพย์ในประเทศไทย รวมไปถึงสินทรัพย์ที่น่าสนใจในต่างประเทศ เช่น
- หุ้นสหรัฐฯ
- หุ้นจีน
- หุ้นเอเชีย
- หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม Technology
- หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare
นอกจากนั้น ยังครอบคลุมไปถึงสินทรัพย์ลงทุนทางเลือก (Alternative Investments) เช่น
- อสังหาริมทรัพย์
- ทองคำ
ซึ่งเราสามารถเลือกรับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ต่างๆ ข้างต้นได้ ด้วยการเลือกกอง RMF ที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เราต้องการ
แถมเมื่อเลือกแล้ว เรายังสามารถสับเปลี่ยนกอง RMF กองเดิมที่เลือกไว้ตั้งแต่ทีแรก ไปยังกอง RMF กองอื่นๆ ได้ด้วย โดยไม่ผิดเงื่อนไขการถือครอง
นั่นทำให้กอง RMF สามารถนำมาดำเนินกลยุทธ์การลงทุนได้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบการถือลงทุนระยะยาว หรือการสับเปลี่ยนโยกย้ายกองทุนเพื่อทำกำไรบ้าง ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละท่าน
ซึ่งสำหรับ บลป. Avenger Planner นั้น พวกเราก็เลือกใช้กองทุน RMF มาดำเนินกลยุทธ์ Asset Allocation & DCA ตามที่เขียนถึงใน บทความนี้
พลังที่ 3 : เป็นหลักประกันว่าเมื่อเกษียณแล้วเงินนี้จะยังอยู่ ไม่หายไปไหนเสียก่อน
เนื่องจาก RMF นั้นมีเงื่อนไขการถือครองที่เข้มงวด โดยหากต้องการที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง และในท้ายที่สุดเมื่อขายกองออกจะไม่ต้องเสียภาษีใดๆ เพิ่มเติมเลยนั้น
เราจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ก็ต่อเมื่อ…
อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี
ซึ่งเงื่อนไขข้อนี้นั้น เป็นกลไกชั้นดี ที่ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า เมื่อเริ่มลงทุนใน RMF แล้ว เราจะยังรักษาเงินก้อนนี้ไว้ได้ จนอย่างน้อยถึงอายุ 55 ปี โดยไม่เผลอใจขายออกมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นเสียก่อนในระหว่างทาง
หรือต่อให้เราหวั่นไหว อยากจะขาย RMF ออกมาใช้ก่อน เราก็จะพบเจอทั้งกระบวนการขาย RMF แบบผิดเงื่อนไขที่ค่อนข้างยุ่งยาก นั่นเพราะ บลจ. ต่างๆ ก็จะมีหน้าที่ในการอธิบายและเตือนไม่ให้เราตัดสินใจในสิ่งที่อาจเป็นโทษต่อตัวเรา
ซึ่งโทษโดยตรงจากการขาย RMF แบบผิดเงื่อนไข จะขึ้นอยู่กับว่า เราถือครอง RMF มาแล้วกี่ปี
- หากถือครองมาเกิน 5 ปีแล้ว ก็จะต้องคืนค่าลดหย่อนภาษีที่ได้รับมาในช่วง 5 ปีย้อนหลัง
- หากถือครองมาไม่ถึง 5 ปี นอกจากจะต้องคืนค่าลดหย่อนภาษีที่ได้รับแล้ว ยังต้องนำกำไรที่เกิดจาก Capital Gain จากการขายหน่วย RMF มารวมเป็นเงินได้ เพื่อเสียภาษีเพิ่มด้วย
จะเห็นว่าโทษดังกล่าวนั้น ไม่ใช่น้อยเลยนะครับ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จึงไม่ค่อยมีใครที่อยากจะขาย RMF แบบผิดเงื่อนไข เราจึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่า เงินจะยังอยู่เพื่อรอให้เราใช้ช่วงเกษียณได้นั่นเอง
บทสรุป
เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับ 3 พลังที่ยิ่งใหญ่ของ RMF ที่สามารถพาเราไปเติมเต็มเป้าหมายเกษียณได้ ผมขอช่วยสรุปให้อีกครั้งนะครับ
พลังที่ 1 – ตอนซื้อ นำค่าซื้อไปลดหย่อนภาษีได้
พลังที่ 2 – ระหว่างที่ถือ ได้รับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่เลือกได้หลากหลาย และยืดหยุ่นสูง
พลังที่ 3 – ตอนขาย มั่นใจได้ว่าเงินอยู่ครบ และไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรใดๆ
พลัง 3 อย่างนี้ เป็นสิ่งที่ภาครัฐ ได้ออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายไว้ให้พวกเราในฐานะประชาชนได้ใช้ประโยชน์เพื่อ รับผิดชอบอนาคตวัยเกษียณของตนเอง มากว่า 20 ปีแล้ว
หลายๆ ท่านลงทุนต่อเนื่องใน RMF ตั้งแต่เงินเดือนยังไม่มาก จนวันนี้เงินเดือนสูงขึ้นก็ยังลงทุนต่อเนื่องอยู่ สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็ได้คืนเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้นจากฐานภาษีที่สูงขึ้น
เงินเก็บในกอง RMF เองก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากหลักพัน กลายเป็นหลักหมื่น หลักแสน จนหลายท่านมีเงินเก็บหลักล้านบาทใน RMF ซึ่งก็เติบโตขึ้นมาจากทั้งวินัยในการออมเพิ่ม และจากดอกผลจากการลงทุนอีกส่วนหนึ่ง
ดังนั้น สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้เริ่ม หรือเริ่มแล้วแต่ยังทำไม่ต่อเนื่อง ลองเปิดใจศึกษา RMF เป็นอีกหนึ่งทางเลือกนะครับ หรือหากสนใจ SSF เราก็มี บทความ เขียนแนะนำไว้แล้วเช่นกันครับ